fbpx

คุยกับ Bank SM ผู้พาลาเต้อาร์ต
ลายกระรอกไปแข่งไกลถึงญี่ปุ่น

บาริสตา Bank SM นำเรื่องราวจากการแข่งขัน Free Pour Latte Art Grand Prix OSAKA 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเล่าให้เราฟังกัน

Bank SM หรือ ศราวุธ หมั่นงาน เริ่มสนใจลาเต้อาร์ตตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นบาริสตา เรารู้จักกับแบงค์ตั้งแต่ตอนที่เขาทำงานที่ Roast เกือบ 3 ปี ก่อนที่ปีนี้แบงค์จะขยับมาเป็นบาริสตาที่ Roots ความหลงใหลในเรื่องลาเต้อาร์ตทำให้แบงค์ฝึกฝนอย่างจริงจัง จนได้ไปแข่งในรายการใหญ่ๆ หลายรายการ รวมถึง Free Pour Latte Art Grand Prix OSAKA 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งแบงค์นำเรื่องราวจากการแข่งขันในครั้งนั้นมาเล่าให้เราฟังกันด้วย

Mr. Roots: แบงค์เริ่มต้นสนใจลาเต้อาร์ตได้อย่างไร

แบงค์: เราเริ่มต้นจากเป็นพนักงานร้านกาแฟ แล้วได้เห็นพนักงานคนอื่นทำลาเต้ร้อนรูปหัวใจ ก็เลยอยากทำบ้าง ช่วงแรกก็ยังทำไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าต้องทำยังไง แต่ก็เริ่มฝึกมาเรื่อยๆ เริ่มจากลายเบสิกอย่างลายหัวใจ ลายทิวลิป ลายโรเซ็ตตาหรือลายใบไม้ พอทำสามลายนี้ได้ก็เริ่มครีเอทลายที่เกิดจากการนำทั้งสามลายนี้มาผสมกัน ซึ่งการครีเอทลายว่ายากแล้ว แต่การเทลายให้ได้ตามแบบที่ครีเอทไว้นี่ยากยิ่งกว่า การทำลาเต้อาร์ตก็เลยทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

Mr. Roots: การแข่งลาเต้อาร์ตในเมืองไทยเป็นแบบไหน

แบงค์: รายการแข่งลาเต้อาร์ตในบ้านเราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ การแข่งแบบ smackdown ที่เป็นการจับคู่แข่ง คนที่แพ้ก็ตกรอบไป กับการแข่งแบบที่มีสกอร์ชีท มีกฎต่างๆ อย่างเช่น National Thailand Latte Art competition ที่เป็นรายการใหญ่ ถ้าแข่งรายการนี้ก็จะต้องคิดมากขึ้นว่าจะเก็บคะแนนในแต่ละหัวข้อยังไง

อย่างรายการ CP-Meiji Speed Latte Art Championship ที่ถือเป็นรายการใหญ่ที่มีหัวข้อในการให้คะแนนที่ชัดเจนและเป็นรายการที่แบงค์ลงแข่งแล้วได้รางวัลชนะเลิศของปีนี้มา การแข่งจะมีหลายรอบ สามรอบแรกจะแข่งกันเทลายทิวลิปกับลายใบไม้ พอถึงรอบ 16 คนสุดท้าย รอบนี้แข่งเทสองแก้วอีกเหมือนกัน แก้วแรกเป็นลายอะไรก็ได้ อีกรอบเป็นลายบังคับที่กรรมการจะกำหนดให้จากการหมุนวงล้อ ส่วนรอบชิงชนะเลิศจะแข่งทั้งหมดสามแก้ว ลายอะไรก็ได้ ลายจากวงล้อ และลาย designer pattern ซึ่งลายหลังสุดนี้จะต้องมีการวาดหรือแต่งเติมบางอย่างเพิ่ม อย่างเช่น ถ้าเราเทลายนก ก็อาจจะใช้ etching technique ในการวาดตา ปาก หรือกิ่งไม้เพิ่มเติม

Mr. Roots: รายการล่าสุดที่แบงค์ไปแข่งมาคือรายการไหน

แบงค์: รายการล่าสุดของแบงค์คือ Free Pour Latte Art Grand Prix OSAKA 2018 รายการนี้กรรมการจะตัดสินจากเกณฑ์การให้คะแนนในสกอร์ชีท ซึ่งจะมีในเรื่องของ technical skill ที่ดูเรื่องความสะอาดและการจัดการพื้นที่ในการทำงาน (10 คะแนน), aesthetic beauty & balance (10 คะแนน), creativity & originality (20 คะแนน), definition หรือความคมชัดของลาย (10 คะแนน), และ color infusion ที่วัดจากความเข้มของสีกาแฟหรือครีมา (10 คะแนน) ในรอบแรกจะคัดออกให้เหลือเพียง 16 คนเพื่อเข้ารอบชิงชนะเลิศ ซึ่งรอบนี้ก็จะใช้สกอร์ชีทเดิมในการตัดสิน แต่ไม่แข่ง technical skill แล้ว ส่วนนี้จะใช้คะแนนจากการแข่งรอบแรกเข้ามาคิดเลย เพราะฉะนั้นถ้ารอบแรกทำคะแนน technical skill ได้ดีก็จะได้เปรียบ

Mr. Roots: ลายที่แบงค์ใช้ในการแข่งขันครั้งนั้นคือลายอะไร

แบงค์: ลายกระรอกถือลูกไพน์นัทบนต้นไม้ แบงค์ทำลายนี้โดยปรับจากลายออริจินัลให้มีความเรียบง่ายมากขึ้นและตำแหน่งการจัดวางได้สัดส่วนมากขึ้น ทุกส่วนในลายจะต้องบาลานซ์กัน ไม่มีส่วนไหนที่ดูแน่นหรือโล่งไป ข้อสำคัญคือต้องให้ดูออกได้ง่ายว่ามันคือลายอะไร ไม่ต้องคิดนาน

เวลาทำลายนี้แบงค์เริ่มจากเททิวลิปสองชิ้นให้เป็นตัวกระรอกก่อน เสร็จแล้วเทใบไม้ด้านล่างและด้านข้าง รวมทั้งเทลายใบไม้เป็นหางกระรอก และใช้ dragging technique ในการวาดกิ่งไม้และแขนกระรอก จากนั้นถึงค่อยทำหัวกระรอก แล้วใช้ milk drop ทำลูกไพน์นัท

Mr. Roots: แบงค์มีการเตรียมตัวก่อนการแข่งขันอย่างไรบ้าง

แบงค์: พอรู้ว่าจะได้ไปแข่งรายการนี้ก็อ่านสกอร์ชีทก่อนเลย เพราะต้องรู้ก่อนว่าสกอร์ชีทรายการนี้ต้องการอะไร ต้องการลายแบบไหน ตอนแรกแบงค์จะใช้ fine line pattern ในการแข่งเพราะเห็นว่าคนญี่ปุ่นชอบ แต่ปรากฏว่าพอดูจากสกอร์ชีทแล้ว แบบ multi-pattern จะทำคะแนนได้มากกว่า แบงค์เลยมองหาลายที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงและมาจบที่ลายกระรอก

นอกจากนี้แบงค์ยังซ้อมเยอะมากๆ เทคนิคการซ้อมก็คือจะซ้อมวันละหกเซ็ต เซ็ตละหกแก้ว สามเซ็ตแรกจะเทแต่ลายใบไม้เพราะแบงค์เทลายนี้ไม่ค่อยสวย พอหาจุดอ่อนเจอแล้วก็เลยฝึกตรงนั้น พอเทลายใบไม้ 18 แก้วจนรู้สึกว่ามือเรานิ่งแล้ว เราก็มาเทลายอื่นอีก 18 แก้วได้

แต่พอถึงช่วงสามวันก่อนแข่ง แบงค์ไม่เทลายใบไม้แล้ว เทแต่ลายกระรอกอย่างเดียวทั้งหกเซ็ตเลย พอซ้อมจนเรามั่นใจว่าเราเทได้ทุกแก้ว เมื่อถึงเวลาไปแข่งเราจะรู้สึกว่ายังไงเราก็เทได้ เราไม่ต้องแข่งกับใคร แค่เทให้ได้เหมือนตอนเราซ้อมก็พอ

Mr. Roots: รู้คะแนนของตัวเองในแต่ละรอบไหม

แบงค์: รายการ Free Pour Latte Art Grand Prix OSAKA 2018 นี้ แบงค์ได้คะแนนรอบแรก 51.3 จาก 60 คะแนน รอบชิงได้ 52.6 จาก 60 คะแนน แบงค์คิดว่าน่าจะได้คะแนนมาจากช่อง creativity & originality มากที่สุด เพราะว่าลายกระรอกถือลูกไพน์นัทบนต้นไม้ที่แบงค์ใช้แข่งเป็นลายที่ค่อนข้างใหม่ จริงๆ แล้ว original pattern ของลายนี้เป็นของร้านกาแฟที่เชียงใหม่ แต่แบงค์ปรับลายของเขาให้เทง่ายขึ้น เพื่อเพลย์เซฟในการเทมากขึ้น

ในการแข่งรอบนี้มีคนไทยสองคนได้คะแนนสูงสุดสองอันดับแรก ซึ่งแบงค์คิดว่าเพราะเราอ่านสกอร์ชีทถูก เราพยายามทำตามสกอร์ชีทในการคิดลายที่จะแข่ง คือเรามองก่อนว่ารายการนี้ต้องการอะไร สกอร์ชีทแบบนี้เราต้องทำลายแบบไหน เราถึงจะได้คะแนนสูง

Mr. Roots: จากประสบการณ์ที่ได้ลงแข่งขันมาแล้วหลายรายการ แบงค์คิดว่าความท้าทายของการแข่งขันอยู่ที่ตรงไหน

แบงค์: จริงๆ แล้วมันคือการแข่งกับตัวเองนะ เพราะว่าช่วงแรกๆ ที่แบงค์ลงแข่ง แบงค์ตื่นเต้นจนมือสั่นและทำออกมาได้ดีไม่ถึงครึ่งของที่เราเคยทำได้เลย หลังจากจบการแข่งแต่ละครั้ง เราจะรู้ว่าเราพลาดตรงจุดไหนและจะซ้อมตรงจุดนั้นเพื่อที่จะได้ไม่พลาดอีกในการแข่งขันครั้งต่อไป อย่างรายการ Free Pour Latte Art Grand Prix OSAKA 2018 แบงค์ส่งรูปไปเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมแข่งในรายการนี้ถึง 3 ปี กว่าจะได้ไปแข่ง พอได้ไปแข่งจริง เราก็เลยต้องเก็บความตื่นเต้นแล้วทำให้เต็มที่

เอาเข้าจริงแบงค์ว่าทุกคนที่ลงแข่งเทเก่งหมดทั้งนั้นครับ แต่พอไปยืนบนเวทีตรงนั้นแล้ว ใครที่ควบคุมตัวเองได้มากที่สุด คนนั้นละที่มักจะเป็นผู้ชนะเกือบทุกรายการ

SHARE

Thank you for subscribe

Thank you! We'll be in touch.

OKAY