fbpx

โทกิ

from บ้านขุนแม่รวม จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับเราแล้ว ‘โทกิ’ หนุ่มนักแปรรูปกาแฟจากอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ วัย 27 ปีคนนี้ คือนักแปรรูปกาแฟหน้าใหม่ที่มีเป้าหมายในการทำธุรกิจกาแฟน่าสนใจและน่าชื่นชมมากทีเดียว

แม้โทกิจะเริ่มแปรรูปกาแฟจริงจังได้เพียง 3 ปี แต่ตลอดเวลาแห่งการลองผิดลองถูก สั่งสมประสบการณ์ และเก็บเกี่ยวความรู้เกี่ยวกับการทำกาแฟ โทกิยังเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการแชร์สิ่งที่ตัวเองมีโอกาสได้รู้ให้ฟาร์มเมอร์กาแฟคนอื่นๆ ในบ้านขุนแม่รวมด้วย 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้กาแฟจากขุนแม่รวมที่เขารัก มีที่ทางและอนาคตที่ยั่งยืนในวงการกาแฟไทย

Mr. Roots: ก่อนมายึดอาชีพแปรรูปกาแฟจริงจัง โทกิทำอะไรมาก่อน

โทกิ: ก่อนหน้านี้ผมเคยทำงานอยู่ในตัวเมืองครับ มาถึงช่วงเวลาหนึ่งก็รู้สึกเบื่อเมือง อยากกลับไปอยู่บ้าน ตอนแรกๆ ก็ทำสวน ปลูกไม้ผล ปลูกผักออร์แกนิกขายในชื่อ Toki Organic Farm 

Mr. Roots: รู้ตัวว่าสนใจกาแฟและอยากทำมันจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่

โทกิ: คือต้นกาแฟมันมีอยู่แล้วในชุมชนของเราครับ ปลูกมาตั้งแต่รุ่นตารุ่นยาย คนที่เอาเข้ามาน่าจะเป็นกลุ่มมิชชันนารี ซึ่งน่าจะเกิน 50 ปีมาแล้ว แต่กลายเป็นว่าคนรุ่นหลังจากนั้นไม่มีใครมาทำต่อ ต้นกาแฟเลยถูกทิ้งไว้ ตอนที่ผมกลับมาไม่มีใครทำโพรเซสกาแฟเลย อย่างมากก็มีคนกลางมาเปิดรับซื้อเชอร์รี่กาแฟ ปีไหนมีคนรับซื้อชาวบ้านเขาก็จะเก็บมาขาย ปีไหนที่ไม่มีก็ปล่อยมันทิ้งไว้ในป่า ไม่มีใครทำเป็นธุรกิจจริงๆ จังๆ นี่คือสิ่งที่ผมเห็นตั้งแต่เด็กจนโต

มีวันหนึ่งผมได้คุยกับคุณลุง เขาเคยโพรเซสกาแฟเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในสวนของผมกับสวนของญาติมีต้นกาแฟอยู่ ก็เลยไปเก็บเองมาจำนวนหนึ่ง ลองโพรเซสเองเล่นๆ ตอนนั้นผมแทบไม่มีความรู้อะไรเลย ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีเครื่องสี ปีแรกก็ได้ออกมาเป็นกาแฟ Natural หลังจากนั้นฟาร์มผมก็มีไปออกงานขายของที่เมืองทองฯ ผมก็เอาเมล็ดกาแฟไปขายด้วย ส่วนหนึ่งผมโชคดีที่มีฐานลูกค้าจากฟาร์มออร์แกนิกอยู่แล้ว พอเขาเห็นผมมีกาแฟเขาก็สนใจ กาแฟผมเป็นกาแฟ Natural ที่ไม่ได้มีกลิ่นหมักเยอะ ค่อนข้างสะอาด หลายๆ คนก็มองหากาแฟแนวๆ นี้พอดี กลายเป็นว่าผมเองก็ได้มีโอกาสคุยกับกลุ่มลูกค้าเยอะขึ้น 

Mr. Roots: ฟีดแบ็คจากผลงานปีแรกทำให้เป้าหมายในการทำกาแฟของเราเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

โทกิ: จริงๆ หลังจากนั้นก็มีคนขึ้นมาดูกาแฟที่ฟาร์ม ก็โชคดีที่ได้เจอทีมพี่ตี่ Graph Cafe พี่อ้วน Gallery Drip เราได้คุยกันเรื่องโพรเซสกาแฟ มันทำให้ผมกล้าที่จะลองโพรเซสอื่นๆ มากขึ้น ปีที่สองผมก็เลยลองรับซื้อเชอร์รี่จากชาวบ้านในชุมชน ทำแบรนด์ Toki Coffee แล้วพอผมได้เห็นว่า กาแฟผมมีโอกาสในการขาย มีกลุ่มลูกค้าที่สนใจ แล้วก็เป็นกาแฟที่มาจากฟาร์มออร์แกนิกด้วย บวกกับว่าขั้นตอนการขนส่งกาแฟก็ง่ายกว่าผักผลไม้เยอะมากๆ ผมก็เลยเปลี่ยนงานหลักของตัวเอง จากการขายผักมาเป็นการทำกาแฟแบบจริงๆ จังๆ

Mr. Roots: เป้าหมายในการทำกาแฟของโทกิคืออะไร

โทกิ: ถ้ามองในระยะยาว ผมก็อยากจะผลักดัน FDA เอาสารกาแฟของผมส่งไปเมืองนอก อีกเป้าหมายหนึ่งคือ ผมอยากสร้างทีม ผมต้องการสร้างเด็กรุ่นใหม่ในชุมชน ที่เขาอาจจะไปเรียนที่อื่นแล้วกลับมาอยู่บ้านแล้วได้มีอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคงขึ้น มาเป็นบาริสต้า เป็นโรสเตอร์​ เป็นคนโพรเซสกาแฟดีๆ ในชุมชน ช่วยกันเอากาแฟจากในชุมชนของเราออกไปสู่ตลาด

สำหรับเป้าหมายในปีนี้ ผมอยากทำกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อยากพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชาวบ้าน เพราะเทียบกับความต้องการตอนนี้ ปริมาณกาแฟที่ผมมีมันน้อยมากๆ และในชุมชน ในสวนของชาวบ้านคนอื่นๆ ก็มีต้นกาแฟเยอะมากที่ไม่ได้รับการดูแล เบื้องต้นก็คงอยากสอนเขาเรื่องการตัดแต่งติ่ง การเก็บเชอร์รี่ เพราะตอนนี้ชาวบ้านส่วนมากเขายังเก็บกันไม่เป็น

Mr. Roots: ทำไมโทกิถึงให้ความสำคัญกับ ‘คน’ มากขนาดนี้

โทกิ: เพราะว่าสิ่งที่ผมได้มาก็มาจากคนที่เขาให้ผมก่อนนี่แหละครับ

Mr. Roots: สุดท้ายแล้วกาแฟขุนแม่รวมมีความหมายกับโทกิยังไงบ้าง

โทกิ: ที่ผมรักและอยากทำกาแฟมันเป็นเพราะว่า กาแฟสอนอะไรหลายๆ เรื่องให้กับผม กาแฟมันอยู่ในชุมชนเรามากว่า 30 ปี โดยที่ไม่มีใครเอาไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ แต่เขาเลือกที่จะปลูกมันเพื่อรักษาป่าต้นน้ำไว้ ป้องกันไม่ให้ชาวบ้านใช้สารเคมีในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ต้นกาแฟก็เลยเป็นสัญลักษณ์ในการอนุรักษ์ป่า ในฐานะคนรุ่นใหม่ผมก็อยากเอากาแฟที่เรามีมาต่อยอด แล้วก็ดูแลมัน และก็อยากให้คนรุ่นหลังๆ เราสานต่อความตั้งใจนี้ด้วย

SHARE

Thank you for subscribe

Thank you! We'll be in touch.

OKAY