‘เอก-เฮงศรีธวัช’ คือชาวกรุงเทพฯ ผู้ที่เปลี่ยนบทบาทจากการเป็น Barista ที่อยู่เกือบจะสุดปลายสายพานกาแฟ มาเป็น Processor และ Connector เดินทางขึ้นดอยสามหมื่น อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำงานใกล้ชิดกับคนต้นทางอย่างพี่ๆ เกษตรกาแฟ แม้เอกจะไม่ใช่ชาวบ้านดอยสามหมื่นแต่กำเนิด แต่เราเชื่อว่าประสบการณ์ 10 ปีที่เอกทำงานร่วมกับเกษตรกาแฟข้างบนนั้น จะช่วยให้เรารู้จักเรื่องราวของแหล่งปลูกกาแฟเก่าแก่อย่างดอยสามหมื่นมากขึ้น
Mr.Roots: จากบาริสต้าในเมือง เอกเริ่มต้นทำงานบนดอยสามหมื่นได้ยังไง
เอก: ด้วยความที่เราเป็นเด็กกรุงเทพฯ อยากเห็นไร่กาแฟ เลยให้รุ่นพี่คนหนึ่งที่เขาซื้อขายเมล็ดกาแฟแนะนำว่าควรไปที่ไหนดี เขาก็แนะนำดอยสามหมื่น พอได้เบอร์ติดต่อคนทำไร่กาแฟมาก็ติดต่อยากมาก โทรไม่ติดเพราะบนนั้นไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ แต่เราก็มีความพยายามที่จะโทรอยู่ ใช้เวลาเกือบปีได้ จนมีอยู่วันหนึ่งที่โทรติด เพราะเขาลงจากดอยมาซื้อของในเมือง
พอได้คุยก็ได้ทราบว่าเขาปลูกกาแฟมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ตอนขึ้นไปเที่ยวก็ชอบบรรยากาศ แล้วบ้านเขาค่อนข้างเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน รับซื้อเชอร์รี่กาแฟของหมู่บ้านทั้งหมด เราก็เริ่มคุยกันว่าอยากเอากาแฟของเขามาให้คนอื่นได้รู้จัก
ตอนนั้นเราเริ่มมีความรู้เรื่อง CQI ด้วย ก็เอาความรู้นี้ไปพัฒนาวิธีการผลิตกาแฟ เพราะวิธีการที่เขาใช้ยังเป็นวิธีดั้งเดิมอยู่ เช่น เก็บเชอร์รี่แบบรูดทั้งกิ่ง ทำให้มีเชอร์รี่สีเขียวปนเยอะ การตากก็ตากกับพื้นหรือโรงนา บ่อหมักเป็นบ่อซีเมนต์กลมๆ ไม่ได้เป็นบ่อเหลี่ยมมาตรฐานแบบบ่อหมักทั่วไป
Mr.Roots: ปีแรกของการทำงานเจออุปสรรคอะไรบ้าง
เอก: ปีแรกๆ ก็มีอุปสรรคค่อนข้างเยอะ เราจัดประชุมหมู่บ้าน แนะนำวิธีการเก็บเชอร์รี่กาแฟ มีชาวบ้านมาฟังประมาณ 2 คน เขาบอกว่าทำไมวิธีการทำกาแฟของมันเรื่องมากจัง เขาไม่เคยทำแบบนี้ แต่เราไม่ยอมแพ้ พยายามจัดประชุมหมู่บ้านทุกปี
จนมีปีหนึ่งที่เมืองเชียงใหม่มีการเปิดการเรียนการสอน Q Processing เราเลยส่งคนในหมู่บ้านเป็นตัวแทนไปเรียน เท่ากับว่าเขากลายเป็นศูนย์กลางในการกระจายความรู้ให้คนในหมู่บ้านได้รับทราบว่า ปัจจุบัน กาแฟในสากลโลกเขาทำกันมาตรฐานแบบนี้แล้วนะ ถ้าเราอยากสู้สากลโลกได้ เราต้องปรับตัว
อีกพาร์ตหนึ่ง เราก็รับซื้อกาแฟทั้งหมดของชาวบ้านตั้งแต่ปี 2016 เริ่มมีหลายๆ บ้านยอมเก็บเฉพาะเชอร์รี่สีแดงตามที่เราขอ บวกกับว่าเราเอากาแฟเขาลงมาคัปปิ้งที่กรุงเทพฯ เล่าให้เขาฟังว่ามีหลายคนให้ความสนใจ เพราะมี tasting note ดี จนล่าสุด ปีก่อนโควิด-19 เรียกได้ว่าเขามาฟังเราแทบจะทั้งหมู่บ้านเลย
Mr.Roots: รู้สึกยังไงที่มีคนสนใจฟังเราทั้งหมู่บ้าน
เอก: รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันก็พิสูจน์แล้วว่า เราเป็น Connector ที่ชาวบ้านไม่ได้มองว่าเราเป็นแค่พ่อค้าคนกลาง เพราะจุดแรกเขามองว่าเราจะไปซื้อเขาในราคาที่ถูกหรือเปล่า ซึ่งสุดท้ายเขาเข้าใจว่าเราพร้อมจ่ายในราคาที่สมเหตุสมผลนะ เพราะอยากเห็นเขาอยู่ได้ด้วยการทำอาชีพนี้
Mr.Roots: ช่วยแนะนำดอยสามหมื่นให้คนที่ไม่คุ้นชื่อได้รู้จักหน่อย
เอก: ‘สามหมื่น’ เป็นชื่อเรียกที่เพี้ยนมาจากชื่อภาษาจีน ‘ซานเมิ่น’ ซานคือสาม เมิ่นแปลว่าประตู เพราะพื้นที่แห่งนี้มีทางเข้าได้สามทาง ทางแรกคืออ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ทางที่สองคือดอยหลวงเชียงดาว ส่วนอีกที่คืออำเภอเวียงแหง จ.เชียงใหม่
ดอยสามหมื่นเป็นแหล่งปลูกกาแฟดั้งเดิมเหมือนพื้นที่ภาคเหนือทั่วไป คนที่นี่เป็นคนจีนที่อพยพมา แล้วก็มีชาวลีซอ ก่อนที่ ร.9 จะเสด็จมาและเริ่มโครงการปลูกกาแฟช่วงปี 2520 ที่นี่มีกาแฟอยู่ก่อนแล้ว สายพันธุ์ที่มีก็ typica รองลงมาก็เป็น Catimor และ Bourbon ที่ภาครัฐส่งเสริมให้ปลูกในช่วงหลัง
พื้นที่ป่าของดอยสามหมื่นอุดมสมบูรณ์มาก เราปลูกกาแฟเริ่มต้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,370 จนถึง 1,725 เมตร ปัจจุบันนี้ เรามีการทดลองปลูกกาแฟสายพันธุ์ที่คนทั่วโลกต้องการอย่าง Geisha Java และสายพันธุ์อื่นๆ ที่น่าสนใจ ถ้าผลลัพธ์ดี ก็อยากจะชวนชาวบ้านมาปลูกด้วย
Mr.Roots: เป้าหมายในการทำงานของเอกคืออะไร
เอก: ผมอยากให้พื้นที่ที่เรามีส่วนร่วมเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้เขามีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงเขาสามารถดูแลตัวเองได้ 1-2 ปีที่ผ่านมา มีชาวบ้านบางส่วนที่เคยเอาเชอร์รี่กาแฟมาขายเรา เขาก็เริ่มออกไปทำเอง ราคารับซื้อเชอร์รี่กาแฟที่นี่ก็จะแพงขึ้น เพราะเราต้องแย่งกันซื้อ ซึ่งเรามองว่าเป็นข้อดี ช่วยให้เกิดการพัฒนามากขึ้น
Mr.Roots: ฤดูเก็บเกี่ยวกาแฟปีหน้า มีอะไรที่เอกกำลังตั้งตารอคอยบ้าง
เอก: ฤดูกาลหน้ามีแนวโน้มว่าอยากจะลองส่งกาแฟดอยสามหมื่นเข้าเวทีประกวดกาแฟบ้าง เพราะตอนนี้เราได้ฟีดแบ็กจากคนที่ใช้กาแฟเรามาว่ากาแฟเราดีขึ้น สะอาดขึ้น รวมถึงผมได้เริ่มชวนนักแปรรูปกาแฟจากโคลอมเบียมาทำงานร่วมกับชาวบ้าน ตั้งเป้าว่า เราน่าจะได้เห็นการแปรรูปใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นในบ้านเรามาก่อน