fbpx

Standard Archives แบรนด์เสื้อผ้าที่ตั้งใจทำสินค้าทุกชิ้นให้ใจดีกับคนและโลก

เบื้องหลังของสินค้า Everyday Essential อย่างเสื้อยืดหน้าตาเรียบง่าย สำหรับ ‘กานต์ กุลอรรฆย์’ ทายาทโรงงานผลิตเสื้อผ้าแบบครบวงจรตั้งแต่ทอผ้า พิมพ์ผ้าและตัดเย็บ ผู้ปลุกปั้น Standard Archives แบรนด์เสื้อผ้าที่สร้างคุณค่าใหม่ให้กับของเหลือและของค้างสต๊อกจากโรงงานคนนี้ มีเรื่องราวหลากมิติให้หยิบมาเล่า ชนิดว่าใช้เวลาหนึ่งวันก็ฟังได้ไม่ครบ

ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิตผ้าที่เราต้องหยิบยืมทรัพยากรมหาศาลจากโลกมาใช้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นอยากการปลูกฝ้าย ย้อมฝ้าย เป็นต้น ของเสียหรือของเหลือทิ้งที่อุตสาหกรรมแฟชั่นทิ้งไว้ให้ สิ่งที่คนทำเสื้อผ้าคนนี้แคร์เมื่ออยากให้ลูกค้าหยิบชุดมาใส่ซ้ำเรื่อยๆ ความพยายามในการทำเสื้อผ้าแฟชั่นที่ใจดีกับรูปร่างและความสบายของคนใส่ ฯลฯ 

วันนี้นอกจากทีม Roots จะเปิดให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของเสื้อยืดโอเวอร์ไซซ์จากคอลเลกชั่น ‘Roots Goodies’ ที่เราทำร่วมกับแบรนด์ Standard Archives แล้ว เรายังมีบทสนทนาสุดเข้มข้นที่จะพาทุกคนไปรู้จักกับแบรนด์เสื้อผ้าที่ใจดีกับโลกแบรนด์นี้มาฝากด้วย

ของเหลือจากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่คุณเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ จนถึงวันนี้คืออะไร

ของเหลือที่เห็นมันเหลือได้จากทุกอย่างเลย ตั้งแต่เศษผ้า เศษด้ายที่เหลือ หรือสมมติลูกค้าสั่งให้โรงงานทำผ้าให้ แล้วสีที่ทำออกมาไม่เหมือนกับที่คุยกันไว้ เช่น ลูกค้าสั่งสีกรม เราย้อมมาเป็นกรมอีกเฉดหนึ่ง ลูกค้าเขามีมาตรฐานสีของเขา พอไม่ตรงกัน แบบนี้ก็ต้อง reject แล้วทำผ้าใหม่ ของที่ถูกปัดทิ้งก็กลายเป็นของเหลือขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยมากๆ เพราะการย้อม การพิมพ์​แต่ละล็อต ไม่ง่านเลยที่ทุกอย่างจะต้องเหมือนกันเป๊ะ เพราะคุณภาพน้ำที่ต่างกันในแต่ละครั้ง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สีเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

บางทีก็เป็นความผิดพลาดของคน เช่น ออเดอร์ของลูกค้าคนนี้ต้องสั่งผ้ามาใช้ประมาณ 100 กิโลกรัม แต่คนสั่งผ้าพิมพ์ 0 เพิ่มไปอีกหนึ่งตัว กลายเป็นว่าเราได้ผ้ามาที่โรงงาน 1,000 กิโลกรัม หรือสมมติว่าเราคำนวณว่าต้องใช้ 100 กิโลกรัม เพื่อผลิตให้ได้ตามจำนวนที่ลูกค้าสั่ง แต่ในความเป็นจริงเราใช้มันไม่ถึง 100 กิโลกรัม เช่น ผ้าถักหรือ knit ที่โครงสร้างของผ้าโปร่ง น้ำหนักผ้าจะวิ่งตลอด อาจจะเหลือผ้า 10-20 กิโลกรัม เทียบกับยีนที่เป็นผ้าทอเต็มๆ เปอร์เซ็นต์การเหวี่ยงก็จะน้อยมากๆ 

ที่บ้านผมมีผ้าเหลือเยอะมาก เยอะจนรู้สึก guilty เลย เพราะว่าทรัพยากรที่เราลงไปกับการผลิตมันมหาศาลมากจริงๆ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับโรงงานผม แต่ทุกโรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมเลย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นด้านที่โรงงานหรือแบรนด์ยังไม่เคยออกมาพูดว่าเรามีของเหลือพวกนี้อยู่ในมือเป็นตันๆ Standard Archives เริ่มมาจากว่า เฮ้ย ของเหลือตรงนี้เราต้องทำอะไรกับมันสักอย่างแล้วล่ะ

พอเริ่มต้นด้วยของเหลือ โพรเซสการออกแบบของคุณต่างจากแบรนด์เสื้อผ้าทั่วไปยังไง

ถ้าเป็นแบรนด์ธรรมดา เขาจะมีโพรเซสการออกแบบที่เริ่มจากสิ่งที่คิดในหัว ผ้าที่จะใช้เป็นประมาณนี้ แล้วก็ทำเป็นแบบขึ้นมา ถ้าเป็น Standard Archives จะเริ่มจาก ตอนนี้เรามีผ้าแบบนี้ เราเอามาทำอะไร คือมันจะกลับกัน เราให้ตัวแมททีเรียลเป็นตัวที่กำหนดแบบ

คำที่แบรนด์เลือกใช้พูดถึงตัวเองอย่าง We make kinder things มีความหมายกับคุณยังไง

ที่เขียนคำนี้ไป เพราะว่าแต่แรกผมไม่อยากทำเสื้อผ้าที่ใจร้าย ลองนึกถึงเสื้อผ้าที่คนใส่ต้องหุ่นเป๊ะๆ หุ่นเละแล้วใส่ไม่ได้เลย หรือเสื้อผ้าที่ต้องโชว์นั่นโชว์นี่ ผมไม่ได้บอกว่านี่เป็นเสื้อผ้าที่แย่นะ แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นเสื้อผ้าที่เหมือนทำให้คนใส่เป็นเป้าในการมอง เหมือนใส่เพื่อโดนวิจารณ์หรือถูกตัดสินนิดหนึ่ง

Make kinder things สำหรับผม แน่นอนว่าข้อหนึ่งคือเรื่องสิ่งแวดล้อม อีกข้อหนึ่งคือคนใส่ง่าย ใส่แล้วไม่ได้รู้สึกว่าเราต้อง self-conscious ตลอดเวลา เสื้อผ้าที่ใครๆ ก็ใส่ได้ ผมว่ามันเป็นเสื้อผ้าที่ใจดีกว่า หลังๆ เสื้อผ้าผมจะไม่แยกเป็นเสื้อผ้าของผู้หญิงผู้ชาย แต่ทำเป็นยูนิเซกซ์ ในแง่ของแบรนด์ก็จัดการเรื่องไซซ์ เรื่องสต๊อกได้ง่ายกว่าด้วย

การทำเสื้อผ้าของ Standard Archives ให้ความสำคัญกับอะไร

สิ่งที่ผมคอนเซิร์นค่อนข้างเยอะ คือผมจะออกแบบให้สินค้าตัวใหม่ที่เรากำลังจะทำใส่กับตัวเก่าที่เราออกไปได้ยังไงบ้าง พอเป็นเสื้อผ้าที่หยิบมาแมตช์กันได้ เราอาจจะไม่ต้องมีของเยอะ เสื้อตัวนี้ใส่กับกางเกงขาสั้น ขายาว หรือกับอะไรก็ได้ แบบนี้แต่งตัวง่ายกว่าเยอะ แล้วยิ่งเวลาถ่ายรูป สไตลิสต์ก็ทำงานง่าย ถ้าดูสินค้าของแบรนด์ จะเห็นว่าแต่ละเดือนที่เราดร็อปของไป มันจะไม่ค่อยเป็นคอลเลกชั่นที่แยกกัน แต่มันเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ พูดง่ายๆ คือเป็นคอลเลกชั่นเดียวกันตลอดทั้งปี

เรานิยามสิ่งที่คุณทำว่าเป็น Sustainable Fashion ได้ไหม

ส่วนตัวผมจะไม่ค่อยอยากใช้คำนี้นิดหนึ่ง จริงๆ แบรนด์ก็เคยใช้ title นี้ไปเหมือนกัน แต่ผมรู้สึกว่า practice ที่ผมทำควรจะเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทำ ควรเป็นโมเดลที่ทุกคนควรเอาไปใช้อยู่แล้ว ตอนนี้ผมเลยไม่มี title ผมแค่อยากทำเสื้อผ้าที่ใจดี กลับมาที่ kinder things ทำเสื้อผ้าที่เหมาะกับภูมิอากาศ ใส่ง่าย ดูแลรักษาง่าย แล้วก็สร้างผลกระทบต่อโลกน้อยสุดเท่าที่จะน้อยได้

กว่าจะได้เป็นเสื้อยืด Roots Goodies ผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง แชร์ให้ฟังหน่อย

พอทาง Roots ให้โจทย์มาว่าอยากทำเสื้อยืดที่ใช้แมททีเรียลที่ยั่งยืนกับโลก ผมก็คิดถึงแพตเทิร์น 2-3 แบบที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับลูกค้า Roots ใส่ง่ายและยูนิเซกซ์ จากนั้นก็ดูว่าเรามีผ้าอะไรเหลือบ้าง ตัวแรกที่นึกถึงเลย เป็นผ้า recycle cotton ที่เอาเศษผ้าเหลือจากโรงงานไปตีแล้วปั่นเป็นเส้นด้าย ทอเป็นผ้าผืนใหม่ขึ้นมา ซึ่งด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่เรามีอยู่ตอนนี้ ตัวเนื้อผ้ารีไซเคิลจะค่อนข้างหยาบ บวกกับแบบที่ใช้ก็ต้องการผ้าที่หนานิดหนึ่งด้วย ก็เลยกลับมารื้อว่าผ้าค้างสต๊อกของเราตัวไหนที่ดูไปได้บ้าง ก็เจอกับผ้าเหลือที่เราเคยพัฒนาร่วมกับแบรนด์เสื้อผ้าอิตาลีตอนปี 2017 ตัวเนื้อผ้าหนาขึ้นมานิดหนึ่ง เป็นความหนาที่ใส่แล้วไม่ร้อนมาก เหมาะกับอากาศเมืองไทย

สิ่งที่คุณอยากให้คนจดจำเกี่ยวกับเสื้อที่ใจดีตัวนี้คืออะไร

ผมอยากให้เสื้อในโปรเจกต์นี้เป็นของที่ทำให้คนเห็นว่า เรามีของ มีแมททีเรียลที่ยังเหลือเต็มไปหมดเลย ความเป็นไปได้ที่เราจะเอาของตรงนี้มาทำอะไรที่ใช้งานได้จริงก็มีเยอะเหมือนกัน อยากให้ลูกค้าที่ซื้อเสื้อไปแล้วได้ลอง curious กับโพรเซสของการทำเสื้อผ้าด้วย เพราะแต่ก่อน ยุคพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย ใส่เสื้อทีหนึ่งก็ต้องไปเลือกผ้า ไปวัดตัวเพื่อตัด คือสมัยก่อนความสัมพันธ์ของคนกับเสื้อผ้าแน่นแฟ้นมากเลย ตั้งแต่เรามีเสื้อผ้าแบบ ready to wear ขึ้นมา ความสัมพันธ์ของเรากับเสื้อผ้าในเชิงของการที่เรารู้ว่ามันผลิตยังไง มันหายไปเกือบสิ้นเชิง กลายเป็นว่าเราเห็นคุณค่าของเสื้อผ้าน้อยลง

ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากให้โปรเจกต์นี้เป็นสื่อกลางที่บอกทุกคนว่า จริงๆ แล้วเสื้อผ้าเป็นเรื่องใกล้ตัว และถ้าได้รู้ว่าหลังบ้านของผ้าสักผืน อย่างฝ้ายกว่าที่เราจะปลูก เก็บ ล้าง ปั่น แล้วทอขึ้นมาเป็นผืน ผ่านโพรเซสการผลิตที่ไม่ง่าย ระหว่างก็ใช้ทรัพยากรไปเยอะ แล้วก็สร้างของเสียออกมาเยอะด้วยเหมือนกัน ผมเชื่อว่าถ้าเราทุกคนได้รู้ตรงนี้ เราคงอยากจะบริโภคแบบใจดีกับโลกมากขึ้นนะ

SHARE

Thank you for subscribe

Thank you! We'll be in touch.

OKAY