เพราะการผสมดิน ปั้น เผา เพื่อให้ได้เซรามิกชิ้นสวยๆ สักชิ้น คือการเพิ่มวัตถุที่ย่อยสลายไม่ได้ให้กับโลกใบนี้ ละมุนละไม. สตูดิโอเซรามิกของ ‘ไหม-ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล’ และ ‘หนาม-นล เนตรพรหม’ จึงไม่เคยลังเลใจในการให้ความสำคัญกับทุกดีเทลของการคราฟต์งานศิลปะ ที่นอกจากจะต้องสวย ให้ความสุนทรีย์แก่ผู้ใช้งานแล้ว ยังต้องหยิบจับได้จริง ใช้งานได้อย่างต่อเนื่องยาวนานได้ด้วย
ไม่ว่าจะของใช้บนโต๊ะอาหาร ของประดับตกแต่งบ้านที่ทำในนามของแบรนด์เอง หรือจะเป็นภาชนะที่ออกแบบครีเอตให้กับร้าน fine dining ร้านอาหารและคาเฟ่ที่มีชื่อเสียงต่างๆ ผลงานที่มาพร้อมกับหน้าตาละมุนละไมล้วนผ่านการออกแบบวิธีการผลิตที่ยั่งยืนแทบทุกขั้นตอน ที่ทีม Roots ประทับใจสุดๆ คือการที่ทั้งคู่ใส่ความตั้งใจน่ารักๆ อย่างการทดลองนำ food waste จากคนทำอาหารที่พวกเขามีโอกาสร่วมงานด้วย มาแปลงเป็นวัสดุผสมกับดิน ปั้นขึ้นมาเป็นภาชนะเซรามิกที่ใช้เสิร์ฟอาหารจริงๆ ให้กับลูกค้า
วันนี้ลูกค้า Roots ไม่ต้องสัมผัสเซรามิกฝีมือทีมละมุนละไม.ที่ไหนไกลแล้ว เพราะเรามีแก้วกาแฟคอลเลกชั่น Roots Goodies ที่พวกเราทำร่วมกันให้ทุกคนได้จับจอง ทีมบาริสต้าตื่นเต้นกันสุดๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่เราได้ลองส่งกากกาแฟที่เป็นขยะอาหารจากหน้าร้าน ไปให้ช่างทำเซรามิกเนรมิตให้เป็นแก้วกาแฟหน้าตาละมุน
ระหว่างที่สินค้า Everyday Essential ชิ้นนี้ กำลังเดินทางไปหาคุณถึงหน้าบ้าน (กดสั่งซื้อได้ที่ link) เรามานั่งคุยกับไหม หนึ่งในดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ทำความรู้จักกับละมุนละไม. และฟังความตั้งใจในการทำแบรนด์เซรามิกที่ ณ เวลานี้ ได้เข้าสู่ปีที่ 10 เป็นที่เรียบร้อย
โจทย์แรกและโจทย์ปัจจุบันของนักออกแบบเซรามิก
ไหมและหนามเริ่มต้นทำละมุนละไม. ตั้งแต่ตอนที่ทั้งคู่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ด้วยสายตาที่มองเห็นโอกาสในตลาดเซรามิก ที่ยังขาดสตูดิโอหรือทีมทำเซรามิกด้วยมือที่รับงานทั้งออกแบบและผลิตแบบคัสตอมเมด รับทำแบบออเดอร์เล็กๆ ได้ เพราะไม่ตั้งเงื่อนไขการสั่งขั้นต่ำเป็นหลักร้อยหรือพันชิ้น แน่นอน คนที่ยิ้มได้จากความตั้งใจแรกนี้ของพวกเขา หนึ่งในนั้นคือเหล่าร้านอาหารเล็กๆ ที่ไม่ได้ต้องการซื้อหรือสต๊อกภาชนะเกินความจำเป็น
“ปัจจุบันนี้ เราอยากเน้นไปที่การสร้างคุณค่าใหม่ให้กับแบรนด์ โดยเราอยากพัฒนาไปในไดเรกชั่นของความยั่งยืน
“สำหรับเราแล้ววงกลมของ sustainability มีองค์ประกอบ 3 ส่วนด้วยกันคือ People Planet และ Profit ในการทำธุรกิจของเรามันควรจะต้องเกิดกำไร เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างเงินเพื่อเอามาหนุนบริษัท แต่เราจะสามารถทำธุรกิจอย่างไรให้ได้กำไรแล้วเกิดผลดีกับ People และ Planet ในเวลาเดียวกันได้ด้วย
“เราสองคนมีคำถามที่เกิดขึ้นตลอดตั้งแต่เริ่มทำเซรามิกมาจนถึงวันนี้ คือเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราใช้วัสดุที่เป็นแร่ธาตุมาจากธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้มีวันหมดไป ซึ่งวันนี้เราก็ยังไม่สามารถสร้างวัสดุทดแทนธรรมชาติแบบเดิมเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้น การผลิตงานทุกชิ้นของเราคือการ consume จากธรรมชาติ ชาเลนจ์ในวันนี้ของเราคือ เราจะผลิตอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดของเสียน้อยสุด ปลอดภัยและเป็นประโยชน์กับคนใช้งานมากที่สุดนั่นเอง”
ดินและขยะอาหารที่ผสมเป็นเนื้อเซรามิกแบบละมุนละไม.
แก้วกาแฟเซรามิกที่ผสมกากกาแฟเข้าไปด้วย อาจจะเป็นสิ่งใหม่สำหรับเราและใครหลายคน แต่กับทีมละมุนละไม.แล้ว การนำขยะอาหารมาผสมกับดินสำหรับปั้นขึ้นรูป หรือผสมกับสีเคลือบเป็นสินค้า tableware ก่อนหน้านี้พวกเขาทดลองมาแล้วหลายสูตรและหลายวัตถุดิบ
“ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่าขยะอาหารสามารถเอามาทำได้ ลูกค้ากลุ่มที่เป็นส่วนสำคัญที่ผลักให้เราอยากพัฒนาแบรนด์ไปอีกสเต็ปคือลูกค้ากลุ่มร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารทั่วไป คาเฟ่ โรงแรม หรือร้านอาหารมิชลิน เราสัมผัสได้เลยว่าแต่ละร้านเขาค่อนข้างใส่ใจแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในร้าน เลยทำให้เราตั้งคำถามตามไปว่า ถ้าเขาเอาเซรามิกเราไปใช้ที่ร้าน แล้วเขาให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาวัตถุดิบ ตัวเราในฐานะคนผลิตเซรามิก เราก็ต้องคำนึงถึง supply chain ของเราด้วยเหมือนกัน
“อาหารเป็นอินทรีย์วัตถุ ฝังได้ ย่อยสลายได้ ยังไงก็เป็นปุ๋ยได้ แต่เราเชื่อว่ามันน่าจะดีกว่าไหม ถ้าเราลดขั้นตอนของการฝังกลบ อย่างน้อยๆ ก็ลดทรัพยากร แรงงาน และระยะเวลาในการย่อยสลาย เรากับพี่หนามก็เลยพยายามทดลองว่าขยะอาหารบางอย่างอาจจะเข้ามาใช้ร่วมกับการทำเซรามิกได้”
ไหมและหนามต้องศึกษาลงลึกกับสสารต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเซรามิก รีเสิร์ชว่าขยะอาหารแต่ละชนิดมีแร่ธาตุอะไรบ้าง และมีคุณสมบัติหรือใช้เป็นส่วนผสมทดแทนในเซรามิกได้ไหม
“เราไปเจอมาว่าเปลือกไข่ เปลือกหอย พวก shell ต่างๆพวกนี้จะมีสารแคลเซียมคาร์บอเนตที่เป็นแร่ธาตุที่ใช้ในการผสมสีเคลือบเซรามิกอยู่แล้ว เราเชื่อว่ามันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เปลี่ยนจากการที่เราต้องไปขุดเหมืองหาแร่ จากนี้เราไม่จำเป็นต้องใช้แร่จากเหมืองแล้ว ลองเอาเปลือกไข่มาผสมเลย โดยที่เราก็ต้องผสมขึ้นมาเป็นสูตรของเรา ทดลองว่าเราควรใช้สัดส่วนเปลือกไข่เท่าไหร่ ให้เรายังคงปั้นเป็นเซรามิกได้ เผาแล้วสินค้ายังมีคุณสมบัติเหมือนเดิมหรือเพิ่มคุณลักษณะที่ดีได้มากกว่ายังไงบ้าง
“จากนั้นก็รีเสิร์ชเจออีกว่า มีคนเคยเอากากกาแฟผสมกับดิน ปั้นเป็นกระถางต้นไม้ โดยข้อที่ดีมากๆ ของมันคือการดูดซึมน้ำ ซึ่งสิ่งนี้ยังไม่เรียกว่าว่าเป็นเซรามิกนะเพราะว่าเราต้องเผาก่อน เราเลยคิดว่ากากกาแฟก็น่าจะเวิร์กกับงานเซรามิกที่เป็นภาชนะใส่อาหารเช่นกัน ถ้าเราเอากากกาแฟมาแทนที่ปริมาณดินที่เราใช้บางส่วน มันจะทำให้ตัวแก้วมีน้ำหนักเบายิ่งขึ้น แต่คุณสมบัติที่ยังดูดซึมน้ำได้ยังอยู่ ก็แก้ปัญหาด้วยการเคลือบทับเพื่อปิดผิว อาหารหรือเครื่องดื่มก็จะไม่ซึมลงไปที่เนื้อเซรามิก”
เบื้องหลังสุดละเมียดละไมของแก้วกาแฟ Roots Goodies
สำหรับทีม Roots แล้ว ไหมและหนามคือคนที่พาพวกเราไปเห็นและสัมผัสข้อพิสูจน์ที่ว่าของเสียอย่างกากกาแฟที่หน้าร้าน สามารถหมุนเวียนนำไปทำเป็นภาชนะที่เราใช้ซ้ำหน้าร้านได้ แต่กว่าจะได้ผลลัพธ์สุดท้าย บอกเลยว่าคนทำเซรามิกทีมนี้ทำงานกันหนักมากทีเดียว
“พอเราผ่านช่วงทดลองเพื่อให้ได้สัดส่วนของกากกาแฟที่ผสมกับดินได้อย่างคงที่ เราก็ต้องทดลองว่าด้วยรูปร่าง รูปทรงมันใช้ได้จริงมากแค่ไหน ลองจับแล้วถนัดมือไหม ขนาดของแก้วเหมาะสมกับการการใช้งานของลูกค้า Roots ไหม เหมาะกับสูตรกาแฟที่บาริสต้าชงหน้าร้านหรือเปล่า
“ทุกใบเป็นงานแฮนด์เมด ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน เสน่ห์ของการขึ้นรูปวิธีคือเราจะเห็นลาย fingerprint ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละใบ เหมือนฝากเอาไว้เป็น maker’s mark พอเราปั้นขึ้นมาเป็นแก้ว ก็ต้องรอจนแห้งเป็น bone dry จากนั้นก็เข้าเตาเผารอบแรกที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส ได้เป็น biscuit เป็นสเตจที่พร้อมสำหรับการพ่นสีหรือจุ่มสีเคลือบ”
สีที่เคลือบตัวเซรามิก แน่นอนว่าต้องมีความพิเศษด้วย! ไหมบอกเราว่าสูตรสีที่สตูดิโอใช้เป็นสูตรสีเฉพาะของละมุนละไม.เลย โดยมีหนามเป็นผู้ชำนาญในเรื่องของการคิดสี รวมไปถึงครีเอตส่วนผสมสีต่างๆ จากแร่ธาตุธรรมชาติ บางสูตรก็มีการเติมเปลือกไข่หรือเปลือกหอยลงไปด้วย
“พอทุกอย่างมาจากธรรมชาติ แม้จะเป็นแร่ธาตุชื่อเดียวกัน เหมืองแต่ละที่จะให้คุณสมบัติของแร่ธาตุที่ต่างกัน (เช่น การทนไฟ ความเข้ม-อ่อน) เวลาผสมสีเราจะทำเป็นแบตช์ใหญ่ๆ จุ่มให้เสร็จในรอบเดียว เพื่อให้แก้วทุกใบไม่เกิดความต่างของสีมากนัก ในขั้นตอนการจุ่มสีเคลือบก็เป็นขั้นตอนต้องทำด้วยมือทุกใบ เคลือบเสร็จก็เอาเข้าเตาเผารอบที่สอง เป็นการเผาเคลือบในอุณหภูมิ 1,250 องศาเซลเซียส แทบจะสูงสุดเลย ยิ่งเผาสูงก็ยิ่งทำให้มั่นใจว่า เซรามิกเราทนความร้อนสูงได้ สามารถใส่ของร้อน ใช้กับเตาอบ เตาไมโครเวฟได้”
สำหรับแก้วเซรามิกของ Roots ไหมและหนามได้เพิ่มรอบการเผาเข้ามาอีกหนึ่งรอบ ซึ่งเป็นการเผาเพื่อให้โลโก้ที่ประทับบนตัวแก้ว (ติดโลโก้ด้วยวิธี decal หรือรูปลอก ที่คล้ายๆ กับการทำสกรีนปริ้นติ้ง) มีความทนทานมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
เซรามิกที่ส่งต่ออิมแพกต์ไปยังคนรอบตัว
เราถามไหมว่าการที่พวกเขายอมทุ่มเทแรงและเวลาไปกับการทดลอง พัฒนาวิธีการทำเซรามิกที่ลงตัวและตอบโจทย์ความยั่งยืนที่ตั้งใจไว้ อะไรคือตัวชี้วัดว่าความพยายามทั้งหมดนั้นคุ้มค่า เธอบอกเราว่า
“มันคือความรู้สึกที่ว่าเราได้สร้างอิมแพกต์ในวงกลมวงนั้น เราทำสินค้าแล้วลูกค้าให้ความสนใจ บริษัทก็ได้แรงสนับสนุนมาเป็นกำไรซัพพอร์ตให้เราทำงานต่อได้ ในด้านสิ่งแวดล้อม เราใช้วัสดุจากธรรมชาติสร้างสิ่งที่มันไม่ได้สามารถย่อยสลายได้ออกมา เรายิ่งต้องตระหนักมากขึ้นว่าแร่ธาตุธรรมชาติที่เอามาใช้ เราต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆ และต้องไม่เอาออกมาใช้มากเกินไปด้วย เพราะว่าแร่ธาตุบางตัวสามารถสร้างคุณค่าได้มากกว่าเมื่อมันถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น และของที่เราทำมันมีคุณค่าเหนือกาลเวลา มีประโยชน์กับผู้อื่นทั้งทางด้านการใช้งานและจิตใจด้วย
“ในแง่ People เราสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้าร้านอาหาร เขาได้รู้ว่าของเหลือจากเขามันทำสิ่งนี้ได้นะ และกับคนกินที่เป็นลูกค้าของร้านอาหาร เขาก็ได้รับรู้ว่าขยะอาหารเป็นปัญหาใหญ่ไม่เฉพาะแต่ในไทยแต่มันเป็นปัญหาระดับ global มันเป็นเรื่องที่เราควรรู้ เพราะว่าเราเป็นผู้บริโภคที่กินอาหารและสร้างขยะอาหารทุกวัน อย่างน้อยก็ทำให้เขาตระหนักรู้ว่า เขาเลือกได้ว่าสิ่งเขาจะบริโภคมันทำร้ายโลกได้มากหรือน้อย ให้มันเกิดอิมแพกต์ในระดับคนตัวเล็กๆ ก่อนแล้วค่อยขยับมาเป็นคอมมูนิตี้
“หมวกที่เราสวมอยู่คือดีไซเนอร์และคนทำธุรกิจ เลยอยากที่จะคิดให้ครอบคลุมที่สุดว่าแบรนด์สามารถ contribute ประเด็นสังคมได้มากแค่ไหน เรายังยึดมั่นว่าเราอยากทำธุรกิจที่สร้างอิมแพกต์ที่ดี ก่อเป็นประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งตรงนี้เราคิดว่ามันเป็นเป้าหมายการทำงานที่ค่อนข้างแมตช์กับทีม Roots ที่พยายามจะส่งเสริมอุตสาหกรรมกาแฟไทยให้ไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น
“ทุกครั้งที่ไปดื่มกาแฟที่ร้าน Roots เราจะรู้สึกสบายที่ได้มาใช้เวลาของตัวเองในพื้นที่นี้ เราคิดว่าการที่ลูกค้ามาใช้ชีวิตในสเปซที่ Roots สร้างไว้ มันถูกต้องแล้ว ตัวแก้วของละมุนละไมก็อยากทำหน้าที่ส่งเสริมให้ลูกค้า Roots ได้ดื่มกาแฟอย่างมีความสุข ซัพพอร์ตบรรยากาศดีๆ ให้ทุกคนได้มีมู้ดที่ดีในการใช้ชีวิตในแต่ละวันค่ะ” ไหมทิ้งท้าย