fbpx

จักรวาล BASIC COFFEE PROCESSING ที่คนรักกาแฟต้องรู้!

มีคนดื่มกาแฟจาก Roots จำนวนไม่น้อย อาจยังสับสนหรือยังไม่มีโอกาสทำความเข้าใจกับฉากหลังของกาแฟทุกแก้วอย่าง Coffee Processing หรือวิธีการแปรรูปเมล็ดกาแฟ ด้วยรูปแบบที่หลากหลายและซับซ้อน ไม่แปลกที่จักรวาลนี้ทำให้ใครหลายคนยอมแพ้กันตั้งแต่หน้าประตู

จริงที่ว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญกับเกษตรกร ผู้ผลิตและโรงคั่ว ทว่าในมุมคนดื่ม การที่คุณรู้จักกับฉากหลังของกาแฟที่คุณชอบ รู้ว่ากาแฟแต่ละโพรเซสต่างกันอย่างไร จะเป็นไกด์ช่วยคุณเลือกซื้อกาแฟรสชาติที่จิบแล้วไม่ผิดหวัง หรือในวันที่คุณอยากชิมรสชาติใหม่ๆ การจิ้มเลือกกาแฟที่ผ่านโพรเซสที่คุณไม่เคยลองมาก่อน ก็ช่วยให้คุณสนุกกับโลกกาแฟยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุด การเข้าใจโพรเซสจะช่วยให้คุณเห็น ‘ต้นทาง’ ของกาแฟมากขึ้นด้วยนะ

วันนี้ Roots Coffee Education มีเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีแปรรูปกาแฟแบบเบสิก ที่ไม่ว่าใครก็ทำความเข้าใจได้ไม่ยากมาฝาก ส่วนเวอร์ชั่นแอดวานซ์ที่พูดถึงเทคนิครูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทดลองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ รอติดตามอ่านในบทความฉบับต่อไปนะ

WHAT | COFFEE PROCESSING คืออะไร

ถ้าถามการแปรรูปกาแฟคืออะไร เชื่อว่าทุกคนน่าจะพอนึกออกว่ามันเป็นขั้นตอนที่เราเปลี่ยนสภาพเชอร์รี่กาแฟ เม็ดสีแดงๆ ให้เหลือเพียงเมล็ดกาแฟสีเขียว (หรือสารกาแฟ) ที่พร้อมส่งต่อไปยังมือผู้รับช่วงต่ออย่างโรงคั่วและร้านกาแฟ ซึ่งในขั้นตอนการแปรรูปกาแฟ ยังเป็นขั้นตอนที่ว่าด้วยการปรุงรสชาติให้กับเมล็ดกาแฟอีกด้วย

WHY | ทำไม COFFEE PROCESSING จึงสำคัญ

ถ้ามองในมุมพี่ๆ เกษตรกร ขั้นตอนเหล่านี้สำคัญกับพวกเขาในแง่ที่ช่วยไม่ให้เชอร์รี่กาแฟที่พวกเขาเก็บมาต้องสูญเปล่า เวลาที่เชอร์รี่กาแฟถูกส่งตรงจากสวนมายังโรงแปรรูป ผู้รับช่วงต่อจะต้องแปรรูปภายใน 24 ชั่วโมง ที่รีบขนาดนี้ก็เพราะเชอร์รี่กาแฟเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีเวลาเน่าเสีย หากตัวเนื้อผลเน่าก็เท่ากับว่าเมล็ดกาแฟที่เรานำมาบริโภคหรือของมีมูลค่าด้านในนั้นก็เสียหายไปด้วย

และสำหรับนักแปรรูปหรือผู้ผลิตกาแฟ ขั้นตอนนี้ก็มีความสำคัญในการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าด้วยนะ พูดง่ายๆ คือการที่เรามีโพรเซสที่หลากหลาย ก็เท่ากับว่าเราสามารถสร้างสรรรสชาติหรือคาแรกเตอร์กาแฟที่แตกต่างจากเราเคยมี ในแง่การทำธุรกิจก็คือการเพิ่มตัวเลือกให้กับลูกค้า ที่ประกอบไปด้วยโรงสี โรงคั่ว คาเฟ่ และคนดื่มกาแฟนั่นเอง

HOW | COFFEE PROCESSING ทำอย่างไร 

โพรเซสที่เราอยากคลี่ให้คุณดูในวันนี้ ประกอบไปด้วยโพรเซสชื่อคุ้นหูอย่าง Wash, Honey และ Natural แต่ก่อนที่จะพาคุณไปดูว่ามันสร้างสรรรสชาติได้อย่างไร เรามาดูที่มาที่ไปของแต่ละโพรเซสกันก่อน

เหตุผลที่กาแฟแต่ละ origin หรือพื้นที่ผลิตกาแฟ ถูกแปรรูปในวิธีที่ต่างกันออกไป บางที่ทำโพรเซสแบบเดียว ต่างกับอีกที่ที่ทำได้หลากหลายแบบ ทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกกำหนดแค่จากความชอบของเกษตรกร นักแปรรูป หรือกระทั่งกลไกตลาด ทว่าเป็นเงื่อนไขทางทรัพยากรที่แต่ละพื้นที่มีต่างหาก!

น้ำและเทคโนโลยีการผลิต ถือว่าเป็นสองหัวใจสำคัญในการออกแบบโพรเซส บินอ้อมโลกไปที่แหล่งปลูกเก่าแก่อย่างประเทศเอธิโอเปียและเยเมน เป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำ มีบางโซนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี  ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การแปรรูปกาแฟต้องใช้ทรัพยากรและมีขั้นตอนน้อยที่สุด นั่นคือวิธี NATURAL PROCESS ที่เป็นการตากเชอร์รี่กาแฟทั้งผล (ระยะเวลาการตากเมล็ดกาแฟก็ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศของแต่ละที่ด้วย หากอากาศร้อนมาก กาแฟจะแห้งไว้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่อากาศเย็นและชื้น กาแฟก็จะต้องใช้เวลาในการตากเยอะ แถมเสี่ยงกับการเกิดเชื้อราด้วย) เมื่อแห้งแล้วก็เข้ากระบวนการกระเทาะเปลือกเพื่อเอาเมล็ดออกมา ว่ากันว่าพวกเขาทำ Natural อย่างเดียวมาเป็นร้อยๆ ปีเลยทีเดียว

ตรงกันข้ามกับแหล่งผลิตกาแฟในอเมริกากลาง ที่มีพื้นที่ปลูกกาแฟกว้างขวางมาก มีทรัพยากรน้ำเยอะ และมีเครื่องจักรช่วยทำงาน วิธีที่เหมาะก็คือ WASHED PROCESS ที่ว่าด้วยการล้างเชอร์รี่ให้สะอาดจากนั้นเอาเปลือกออกด้วยเครื่องปอกเปลือก หมักในถัง 1-2 วัน แล้วล้างเมือกที่เกาะเมล็ดออก ก่อนนำไปตากให้แห้ง แถมวิธีนี้ยังใช้เวลาทำเพียงไม่กี่วัน จึงเหมาะกับแหล่งที่ต้องผลิตกาแฟขายในปริมาณมากๆ 

หากขยับลงใต้หน่อย ที่ประเทศบราซิล มีเทคโนโลยีเหมือนกัน ทว่าปริมาณน้ำไม่ได้มีเหลือเฟือสำหรับการล้างน้ำ 2 รอบแบบ Wash Process นักแปรรูปจึงต้องพึ่งวิธี SEMI-WASHED หรือ HONEY PROCESS ที่ลดขั้นตอนการใช้น้ำล้างเมือกที่เกาะเมล็ดกาแฟออก และในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ เราสังเกตว่ากาแฟจากแหล่งปลูกเดียวสามารถผลิตกาแฟหลากหลายคาแรกเตอร์ได้ เป็นเพราะว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่ายขึ้น หรือบางพื้นที่ทุ่มเทในการสรรหาทรัพพากรที่เคยขาดมาเติมได้ รวมถึงการผลักดันจากนักพัฒนากาแฟที่เดินทางเข้าไปทำงานกับคนต้นทาง 

WHO | ตัวละครลับผู้สร้างมิติในรสชาติกาแฟคือใคร

กาแฟ Wash ดื่มง่าย ให้รส fruity ชัด กาแฟ Honey มีรสซับซ้อนและ funky ความแตกต่างทางรสชาติเหล่านี้ ต้องยกเครดิตให้กับ Microbe หรือจุลินทรีย์อย่างยีสต์และแบคทีเรีย (ความจริงแล้วต้องรวมสายพันธุ์กาแฟและความสมบูรณ์ของต้นกาแฟเข้ามาด้วย แต่วันนี้เราขอพูดถึงพระเอกสำคัญในขั้นตอนการแปรรูปอย่างเดียวนะ)

ยีสต์และแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วที่มีตัวตนอยู่แล้วในอากาศแลพทุกๆ พื้นที่ รวมถึงตัวเปลือกของเชอร์รี่กาแฟ ‘การหมัก’ ถือเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในทุกๆ โพรเซส ซึ่งหัวใจของการหมักก็คือการปล่อยให้จุลินทรีย์เข้ามากินน้ำตาลและสารประกอบต่างๆ ในเมือกหรือเนื้อเชอร์รี่กาแฟ ผลพลอยได้จากการกินของจุลินทรีย์ ก็คือบอดี้และรสชาติที่ซับซ้อนหลากหลายของกาแฟนั่นเอง

อย่าง Natural Process ที่บอดี้หนักกว่าเพื่อน เป็นเพราะว่าวิธีนี้ไม่ได้มีการเอาเปลือกและเนื้อกาแฟที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ออก ทำให้ขั้นตอนการตากให้แห้งต้องกินเวลานานราวๆ 1 เดือน พูดง่ายๆ คือแห้งช้า ซึ่งในความช้าเหล่านี้ แปลได้ว่าจุลินทรีย์มีเวลาทำหน้าที่ของตัวเองยาวนานนั่นเอง 

ส่วน Honey Process ที่ปอกให้เหลือแค่เมือก ร่นระยะเวลาตากเหลือเพียง 14-20 วัน เท่ากับว่ากระบวนการหมักที่เกิดบนแผงตากกินเวลาสั้นกว่าวิธี Natural ส่งผลให้กาแฟโพรเซสนี้มีความกลมของรสชาติ (round) บอดี้ไม่หนัก แต่ก็ไม่ได้คลีนหรือสะอาดเท่ากับกาแฟ Wash Process ที่จุลินทรีย์มีโอกาสในการสร้างรสชาติหรือกินน้ำตาลจากเมือกกาแฟในถังหมักเพียง 1-2 วัน และพอจบขั้นตอนการหมักเมือกก็จะถูกล้างออกจนหมด (ตอนตากเลยไม่มีอาหารให้จุลินทรีย์ทำงานต่อ) รสชาติของกาแฟ Wash จึงอยู่ในโทนสดใส (bright) เป็น everyday cup ของใครหลายๆ คน

อ่านเรื่องเล่าอย่างเดียว อาจเข้าใจความต่างของ Coffee Processing ทั้งสามได้ไม่ชัดและไม่หนำใจเท่ากับการได้เปิดประสบการณ์ชิมรสชาติจริงๆ ลองสั่งเมล็ดกาแฟ Washed, Honey และ Natural จาก P’Sopa (อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่) ที่แพ็กมาด้วยกันในเซ็ต Basic Coffee Processing (ถุงละ 50 กรัม) ไปแบ่งชิมกับคนที่บ้านกันได้เลย มีจำหน่ายเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น คลิกเลยที่ link

SHARE

Thank you for subscribe

Thank you! We'll be in touch.

OKAY