Home brewer หลายคนอาจเคยสังเกตเห็นความผิดปกติของเมล็ดกาแฟคั่วที่ซื้อมา ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยเว้าแหว่ง หรือมีน้ำหนักเบาเพราะเนื้อด้านในกลวง ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของ ‘มอดกาแฟ’ ศัตรูพืชตัวฉกาจที่ชอบรังควานพี่ๆ ชาวสวนกาแฟ
วันนี้ ‘บอส-ฐาณุพงศ์ กาญจนจิระโรจน์’ Coffee Educator จาก Roots มีเรื่องเล่าจากฟาร์มกาแฟบ้านขุนแม่รวม จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดของ ‘โทกิ’ ที่ตอนนี้กำลังต่อสู้กับการระบาดของกองทัพมอดกาแฟกันอย่างขันแข็ง มาแชร์ให้ทุกคนฟัง
มอดกาแฟคืออะไร
ถ้าให้นึกถึงมอดแบบไวๆ เชื่อว่าทุกคนจะต้องคิดถึงแมลงปีกแข็งตัวเล็กๆ ที่ชอบทำเซอร์ไพร์สเราในถังข้าวสาร จริงๆ แล้วมอดเป็นแมลงศัตรูพืชที่มีหลายชนิด บางชนิดเจาะกินเฉพาะเนื้อไม้ บางชนิดชอบเจาะใบ มอดกาแฟหรือ Coffee Berry Borer (Hypothenemus hampei) ที่มีต้นกำเนิดมาจากทวีปแอฟริกาเช่นเดียวกับกาแฟ ถือเป็นชนิดที่ร้ายเหมือนกัน เพราะชอบเจาะทำลายเชอร์รี่กาแฟ!
ปัญหามอดในฟาร์มกาแฟบ้านขุนแม่รวม
“จริงๆ ที่บ้านขุนแม่รวมไม่ได้ปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลัก พอเมล็ดกาแฟที่โทกิแปรรูปขายดีมากขึ้น ผลผลิตในหมู่บ้านก็เริ่มไม่พอ ก็เลยมีการรับซื้อเชอร์รี่กาแฟจากหมู่บ้านใกล้เคียงอื่นๆ มาแปรรูป มอดกาแฟที่บุกบ้านขุนแม่รวม น่าจะติดมาจากแหล่งปลูกอื่น ซึ่งช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มอดกาแฟเริ่มเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“มอดกาแฟเติบโตและขยายพันธุ์ค่อนข้างเร็ว จะโตเต็มวัยเมื่ออายุ 1-2 เดือน ตัวเมียหนึ่งตัววางไข่เฉลี่ย 60-100 ฟอง รอดออกมาเป็นมอดเจนฯ ลูกที่พร้อมขยายพันธุ์ต่อราวๆ 20 ตัว ถ้าในระแวกนั้นมีมอดตัวเมีย 20 ตัว ระยะเวลาเพียงครึ่งปี จำนวนมอดอาจเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านตัว”
ปัญหาใหญ่ที่สุด หนีไม่พ้นการที่พวกมันเจาะทำลายทั้งเปลือก เมือก และเมล็ดในเชอร์รี่กาแฟ โดยในเชอร์รี่ 1 ลูก มอดตัวเมียจะเจาะเข้าไปวางไข่ 1-2 ตัว (เพื่อให้มีอาหารเลี้ยงตัวอ่อนได้เพียงพอ) เท่ากับว่าชาวสวนอาจต้องเสียเมล็ดกาแฟคุณภาพเหล่านั้นไปในจำนวนที่เยอะมากๆ ยิ่งไม่รีบกำจัด ชาวสวนก็จะยิ่งปวดหัวกับลูกหลานมอดมากขึ้น
“นอกจากปัญหามอดกาแฟ ที่บ้านขุนแม่รวมยังมีมอดชนิดอื่นๆ ที่เจาะกิ่ง เมื่อท่ออาหารในกิ่งถูกทำลาย การลำเลียงสารอาหารก็จะไม่เต็มที่ ถ้ามอดกินส่วนใบ จะกระทบต่อระบบสังเคราะห์แสง ส่งผลต่อการออกดอกและการสุกของผลเชอร์รี่ ดอกตูมของกาแฟก็เป็นอีกสิ่งที่พวกมันชอบกินด้วยเหมือนกัน
“ต้นกาแฟเสียหาย คุณภาพกาแฟก็ตกลง กระทบกับรายได้ของชาวสวนแบบไม่ต้องสงสัยเลย” บอสสรุป
ชวนผู้รู้มารวมพลังสู้กับมอด!
หลังจากได้ยินปัญหามอดกาแฟจากคำบอกเล่าของโทกิ ทีม Roots Coffee Education จึงได้ชักชวนผู้มีประสบการณ์ในการถ่ายทอดวิชากำจัดมอดกาแฟเบื้องต้นให้กับชาวสวนกาแฟอย่าง ‘ไม้-วนกร วงค์กองแก้ว’ จาก Akha Ama, ‘ก๊อต-ปิยพล พลเพชร’ และ ‘โบ-ปาริฉัตร โพธิ์สวัสดิ์’ จาก School Coffee กลุ่มเพื่อนผู้รักกาแฟที่เชื่อเรื่องการทำงานกับคนต้นทางคล้ายกับเรา มาช่วยจัดคลาสอบรมให้กับชาวสวนกาแฟบ้านขุนแม่รวมและพื้นที่ใกล้เคียง โดยทุนที่ใช้จัดกิจกรรมนี้ เป็นทุนจากโปรแกรม Cup to Farm ที่เราหักเงินส่วนหนึ่งจากการขายกาแฟหน้าร้าน Roots ทุกแก้ว รวมเป็นทุนสำหรับซัพพอร์ตการทำงานของพี่ๆ เกษตรกรที่เราทำงานด้วยนั่นเอง
“สิ่งที่พวกเราขึ้นไปอบรมก็มีตั้งแต่การอธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากมอด เช่น ทำลายสมดุลต้นกาแฟ ผลผลิตลดลง ฯลฯ แล้วก็ให้ข้อแนะนำในการทำกับดักมอดและการใช้สารกำจัดมอด ที่เน้นเป็นสารชีวภาพ ไม่อันตรายกับคนและต้นไม้”
นอกจากนี้ การตัดแต่งกิ่งต้นกาแฟ ไม่ให้อยู่ใกล้กันมากจนเกินไป หรือมีจุดอับเยอะๆ จะทำให้มอดวางไข่ได้ยากขึ้น ในกรณีที่สวนกาแฟเจอปัญหามอดหนักๆ การจะหยุดวงจรมอดกาแฟได้ คือการเก็บเชอร์รี่ทั้งสวนไปทำลายทิ้งให้เรียบ (ทั้งลูกที่ติดบนต้นและลูกที่หล่นลงพื้น) เพื่อกันไม่ให้มอดรอดจากฤดูกาลนี้ไปขยายกองทัพต่อในฤดูกาลหน้านั่นเอง
“หัวใจสำคัญของการกำจัดมอดคือการหยุดการขยายพันธุ์ ถ้าเราปล่อยให้มอดแพร่ไปเรื่อยๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่แค่กับกาแฟ อาจเสียหายต่อต้นไม้ต้นอื่นๆ และระบบนิเวศด้วย”
แม้การกำจัดมอดจะเป็นอุปสรรคที่เพิ่มเข้ามา แต่ความใส่ใจและความพร้อมสู้ของโทกิและชาวสวนกาแฟบ้านขุนแม่รวมและระแวกใกล้เคียง ทำให้คนเบื้องหลังคลาสอบรบคลายกังวลไปได้หนึ่งเปลาะ
“ฤดูกาลเก็บกาแฟในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า มารอดูผลลัพธ์ของพี่ๆ เกษตรกรกลุ่มนี้กัน” บอสทิ้งท้าย