สำหรับพวกเราแล้ว Origin Trip ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของธุรกิจเลยก็ว่าได้
ความหมายของทริปประจำปีที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวกาแฟ (ราวๆ ธันวาคมถึงกุมภาพันธ์) ไม่ได้มีแค่การ say hi ทักทายพี่ๆ เกษตรกรที่เราทำงานด้วยเท่านั้น แต่เป็นการพาคนหน้าร้านอย่างบาริสต้า ไปดูความตั้งใจของคนหลังบ้านหรือคนต้นทางที่ผลิตเมล็ดกาแฟมาให้พวกเขาชง
หลังจากโควิด-19 ทำให้ทีม Roots ห่างหายจากทริปไป 2 ปีเต็มๆ วันนี้มาฟังคนจัดทริปอย่างเต้-(คมสันต์ แซ่ตั้ง) Head Barista และนุ-(อนุวัตร นบนอบ) บาริสต้าประจำ Roots ไบเทค ที่เพิ่งมีโอกาสเป็นลูกทริปครั้งแรกเล่าดีกว่าว่า Origin Trip ครั้งล่าสุด พี่ๆ เกษตรกรพาพวกเขาไปทำเรื่องสนุกและน่าตื่นเต้นอะไรกันบ้าง
“Origin Trip คือการพาบาริสต้าไปรู้จักต้นทาง ไปเห็นว่ากว่าเมล็ดกาแฟจะมาถึงโรงคั่วของเรา มันมีการเดินทางยังไงบ้าง โดยกลับไปที่ต้นน้ำ สัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกร ไปดูสภาพภูมิประเทศว่าทำไมพวกเขาถึงปลูกพืชพันธุ์นี้ ทำไมต้องทำกาแฟโพรเซสนี้ และทำไม Roots ถึงมีเป้าหมายอะไรที่เยอะแยะไปหมด”
เต้เสริมว่าปกติแล้ว Origin Trip แต่ละทริปจะมีการวางแผนต่างกัน มีทั้งทริปที่พาบาริสต้าหน้าใหม่ๆ ไป ซึ่งจะเน้นไปไร่ที่เดินทางง่ายและโรงแปรรูปที่ทำโพรเซสไม่ซับซ้อนมากเกินไป และสำหรับบาริสต้าที่เคยไปทริปมาแล้ว ก็จะเป็นทริปที่จัดหนักในเรื่องเนื้อหา ความสนุกและความลำบากมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันในทุกทริปคือ พี่ๆ เกษตรกรยินดีแบ่งปันเรื่องเล่า เป็น ‘คุณครู’ ที่น่ารักให้กับบาริสต้าของเราเสมอ
“ความเชื่อส่วนตัวของผมนะ ต่อให้เราท่องทฤษฏีแทบตาย ถ้าเราไม่ได้ไปเห็นหรือไปลงมือทำมันจริงๆ มันอาจจะไม่ได้เป็นความเข้าใจ ซึ่งพอเข้าใจจริงๆ มันก็เป็นการต่อยอดความรู้ให้น้องๆ ได้ดีมากๆ อีกหนึ่งจุดหมายของทริป มันคือการคอนเน็กต์กันด้วยสิ่งที่เรียกว่ากำลังใจ การที่เราไปหาเกษตรกร ไปพูดคุยกัน ไปรับฟังปัญหา หรือเอากาแฟที่เราคั่วในกรุงเทพฯ กลับไปชิมพร้อมกันกับเขา มันทำให้กำลังใจของเกษตรกรและชงกาแฟมันดีขึ้น ความสัมพันธ์ของเราก็ดีขึ้นตาม” เต้เล่า
ไร่กาแฟแห่งแรกที่คนรุ่นพี่อย่างเต้ พาลูกทริปหน้าใหม่ไปคือไร่ของพี่หนุ่ยพี่อ้อย ที่ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
“หลักๆ เลยพี่หนุ่ยพี่อ้อยเขาพาพวกเราไปดูไร่และเก็บกาแฟครับ ภาพไร่กาแฟในหัวก่อนไปจะเป็นภาพไร่กาแฟที่แต่ละต้นเรียงกันสวยงาม ปลูกบนพื้นราบ เดินเก็บง่ายๆ มีผลเชอร์รี่กาแฟสุกเท่ากันทั้งต้นประมาณนี้ครับ แต่พอได้เห็นของจริงมันคนละเรื่องกัน ไม่ได้เป็นแบบที่เราคิดไว้เลย”
สิ่งที่นุได้เห็นคือภาพต้นกาแฟที่ปลูกแซมกับต้นไม้ใหญ่ ยืนต้นบนเนินเขาที่ชันมากๆ ซึ่งการเก็บผลผลิตเกษตรกรก็ต้องใช้แรงในการปีนป่ายขึ้นไป แถมยังต้องเก็บหลายรอบ เพราะในความเป็นจริงไม่มีทางเลยที่เชอร์รี่กาแฟจะสุกพร้อมกัน
“บางจุดมีหน้าผาด้วยครับ งานตรงนั้นยากลำบากมากๆ การขนย้ายก็ลำบาก สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากไปไร่คือเราเห็นคุณค่าของกาแฟมากขึ้น ก็จะพยายามทำให้กาแฟเสียน้อยลง ตั้งใจทำทุกช็อตออกมาดีที่สุด” นุเล่า
“ด้วยความที่ทางชัน เวลา 2 ชั่วโมงพวกเราเก็บเมล็ดเชอร์รี่ได้กันคนละ 5-6 กิโลฯ ซึ่งมันน้อยมากถ้าเทียบกับพี่ๆ เกษตรกรที่เก็บกันวันละ 50-60 กิโลฯ ต่อคน ซึ่งเชอร์รี่กาแฟ 6 กิโลฯ ทำกาแฟได้แค่ 40 แก้ว พอเห็นความเหนื่อยยาก เราก็จะพยายามใช้กาแฟให้เป็นประโยชน์มากสุด ภาพตัดมา พี่หนุ่ยพี่อ้อยบอกเราแบบตลกๆ ว่า ไม่เป็นไร ทิ้งไปเยอะๆ เถอะ พวกพี่จะได้ขายกาแฟได้” เต้หัวเราะ
โลเคชั่นต่อมาคือบ้านปางขอน จังหวัดเชียงราย เป็นโรงแปรรูปกาแฟขนาดใหญ่ที่ร่วมงานกับ beanspire coffee และพวกเรามายาวนาน นุเล่าว่าได้เห็นขั้นตอนการแปรรูปกาแฟแทบจะทุกขั้นตอนจากที่นี่ ตั้งแต่การคัดแยกเชอร์รี่ ล้าง เข้าเครื่องสี จนกระทั่งขั้นตอนการตากของแต่ละโพรเซส และไม่เพียงแค่ได้เห็น ครอบครัวเมอแลกู เจ้าของโรงแปรรูปยังใจดีให้เหล่าบาริสต้าได้ลงมือสัมผัสงานแปรรูปกาแฟของจริงอีกด้วย
“ไร่สุดท้ายที่ไปคือไร่ของพี่ชาตรี เขาพาไปดูไร่กาแฟเหมือนกันครับ ซึ่งพี่ชาตรีก็ได้สอนวิธีการเก็บกาแฟที่ถูกต้องให้เรา เพราะถ้าเก็บผิดวิธีมันจะมีผลต่อการออกดอกออกผลของล็อตถัดๆ ไป แล้วก็พี่ชาตรีก็สอนวิธีการดูสายพันธุ์กาแฟ แต่ละสายพันธุ์ต่างกันยังไง ประมาณนี้”
“ต้องบอกว่าประทับใจเกษตรกรทุกคนเลยครับ เพราะว่าเราได้ไปสัมผัส ได้เห็นความรักความใส่ใจที่เขามีต่อกาแฟ คือไม่ว่าจะเป็นการดูแลต้นกาแฟ การเก็บ การแปรรูป มันทำให้เราอินแล้วก็หลงรักกาแฟมากยิ่งขึ้น” นุเล่าพร้อมรอยยิ้ม
เต้บอกเราว่า Origin Trip ทุกครั้งมักจะมีเรื่องนอกเหนือแพลนเกิดขึ้นเสมอ อย่างเช่นการได้รู้จักเกษตรกรใหม่ๆ ระหว่างทาง หรือการค้นพบวิธีแปรรูปกาแฟที่ให้รสชาติอร่อยแบบบังเอิญๆ สิ่งนี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้บาริสต้าหลายๆ คนรู้สึกสนุกและอยากรอคอยทริปในปีต่อๆ ไป
“สมัยทำกาแฟแรกๆ เราตั้งคำถามกันตลอดว่า specialty coffee คืออะไร แล้วทุกคนจะพูดว่ามันเป็นการใส่ใจทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูกยันชง แต่ในฐานะคนหน้าร้าน เราจะโฟกัสกับการคั่วการชงมากๆ แต่พอไปดูต้นทาง เห็นพี่ๆ เกษตรกรทำงาน ทุกๆ ขั้นตอนเขาเทคแคร์เหมือนลูกคนหนึ่งเลย คำว่าเทคแคร์อาจจะยังน้อยเกินไปด้วยซ้ำ” เต้ทิ้งท้าย