Mr. Roots: ก่อนจะมาทำกาแฟ คุณทำอะไรมาก่อน
ฟูอาดี้: ผมอยู่สายนักวิชาการมาก่อน แต่เริ่มสนใจเรื่องกาแฟเมื่อ 7 ปีก่อนช่วงที่เรียนอยู่ที่อเมริกา ช่วงอยู่ที่นั่นเป็นช่วงที่ทำให้ผมได้ลองกาแฟพิเศษตามร้านต่างๆ แล้วก็สงสัยว่าทำไมถึงไม่เคยเห็นเมล็ดกาแฟจากไทยตามร้านที่ไปเลย
ความสงสัยและความรู้สึกอยากสนับสนุนของไทยนำผมไปสู่การตามหากาแฟไทยในเชียงรายและเชียงใหม่ที่มีคุณภาพดี ด้วยความหวังว่าจะสามารถส่งออกกาแฟเหล่านั้นไปยังตลาดของกาแฟพิเศษทั่วโลกได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมคงไม่สามารถทำตามเป้าหมายนี้ได้ถ้าขาดพาร์ทเนอร์ที่มีแพสชันเรื่องกาแฟในระดับเดียวกัน และสามารถประจำที่อยู่ที่เชียงใหม่กับเชียงราย เพราะทั้งสองจังหวัดนี้เป็นแหล่งผลิตกาแฟอราบิก้าที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ซึ่งพาร์ทเนอร์ที่ร่วมก่อตั้ง Beanspire กับผมตั้งแต่แรกก็คือ เจน กิตติรัตนไพบูลย์ ผมรู้จักเขาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่อเมริกาด้วยกัน เจนเป็นคนเชียงรายโดยกำเนิดและใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงราย เจนกับผมเริ่มต้นทำ Beanspire ด้วยกันในปี 2014
ถ้าเทียบจากงานที่ทำแล้ว งานส่วนที่เจนรับผิดชอบเป็นส่วนที่สำคัญกว่า เพราะหน้าที่ของผมคือการทำงานร่วมกับเกษตรกรที่ปลูกกาแฟในฤดูเก็บเกี่ยว และขายกาแฟเหล่านี้ให้คนคั่วกาแฟทั้งในไทยและต่างประเทศ ในขณะที่เจนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคัดแยกเมล็ดกาแฟและเตรียมเมล็ดกาแฟให้พร้อมสำหรับการส่งไปถึงมือลูกค้าและส่งออก
Mr. Roots: ภูมิภาคนี้มีอะไรที่คุณชอบบ้าง
ฟูอาดี้: ภาคเหนือเป็นภาคที่พิเศษสำหรับผม อย่างที่เล่าให้ฟังว่าแบ็กกราวนด์ของผมมาทางสายวิชาการและจบด้านรัฐศาสตร์มา ซึ่งถ้าคุณติดตามข่าวการเมืองไทย คุณจะรู้ว่าคนเหนือมีความเห็นเรื่องการเมืองต่างจากคนในกรุงเทพฯ และคนใต้ ความเห็นต่างทางการเมืองค่อนข้างรุนแรงมากจนนำไปสู่ความตึงเครียดที่ยังคงเป็นอยู่จนทุกวันนี้ ผมเกิดที่ภาคใต้และโตในกรุงเทพฯ ซึ่งถ้าวัดจากภูมิลำเนาที่เกิดและที่โตแล้ว ผมก็ควรจะมีความเห็นทางการเมืองตรงกันข้ามคนจากภาคเหนือ
แพสชันในเรื่องกาแฟที่ผมและเพื่อนเกษตรกรที่ปลูกกาแฟมีร่วมกันเป็นสะพานในการแก้ความเข้าใจผิดและทำให้เส้นแบ่งระหว่างความแตกต่างทางการเมืองจางลงไป เพราะฉะนั้นถ้าถามผมว่าทำไมถึงชอบภาคเหนือ คำตอบก็คือนอกเหนือไปจากเรื่องความแตกต่างแล้ว ภาคเหนือยังเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่ทำให้ผมได้เชื่อมโยงกับผู้คนในแบบที่ผลผลิตชนิดอื่นๆ ทำไม่ได้
Mr. Roots: คุณเริ่มสนใจกาแฟอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อไร
ฟูอาดี้: อย่างที่เล่าให้ฟังตอนแรกว่าผมเริ่มทำเรื่องกาแฟจริงจังก็ตอนที่ทำ Beanspire เมื่อปี 2014 แต่ความสนใจเรื่องกาแฟเริ่มจริงๆ เมื่อปี 2012 โดยเริ่มจากความสนใจอยากรู้และความรู้สึกเรื่องชาตินิยม แต่สิ่งที่ทำให้ผมยังทำเรื่องนี้มาจนกระทั่งทุกวันนี้ก็คือผู้คนที่ผมได้พบตลอดการทำงาน โดยเฉพาะเพื่อนเกษตรกรในเชียงรายและเชียงใหม่ ผมรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำงานต่อไปเพื่อพัฒนาคุณภาพกาแฟของพวกเขาให้ดีขึ้นและทำให้คนรู้จักกาแฟเหล่านี้มากขึ้น หลักๆ ผมจะทำงานใน 2 พื้นที่คือ ดอยปางขอนซึ่งได้ทำงานกับอาต๊ะ ส่วนที่ดอยสะเก็ดก็จะเป็นอ้อยกับหนุ่ย และหวังว่าในอนาคตจะได้ทำงานกับฟาร์มอื่นๆ อีก
Mr. Roots: กาแฟมีความหมายกับคุณอย่างไรบ้าง
ฟูอาดี้: กาแฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมตั้งแต่เริ่มสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ที่จริงตอนนี้ผมยังเรียนอยู่ที่อังกฤษ ก็เลยไม่ได้อยู่ในเมืองไทยถ้าไม่ใช่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยว แต่ถึงผมจะไม่ค่อยได้อยู่ไทย แต่ก็ผมก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องกาแฟ ตั้งแต่ติดต่อกับคนที่ดูแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะสั่งซื้อกาแฟไทย ร่างสัญญา ทำเอกสาร ไปจนถึงพูดคุยกับเกษตรกรเพื่อถามไถ่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างที่ต้นทางของกาแฟ
ผมหวังว่าจะสามารถทำงานสายวิชาการและทำเรื่องกาแฟได้ในเวลาเดียวกัน เพราะกาแฟเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผมเข้ากับปัญหาจริงๆ ของโลก ในขณะที่งานวิชาการทำให้ผมก้าวข้ามขีดจำกัดในการคิดวิเคราะห์เชิงทฤษฎี โชคดีอย่างหนึ่งที่ฤดูเก็บเกี่ยวของไทยตรงกับช่วงปิดเทอมฤดูหนาวของผม ผมก็เลยกลับมาที่เชียงใหม่และเชียงรายได้ และบาลานซ์ชีวิตทั้งสองด้านได้ลงตัว นอกจากนี้ บางครั้งชีวิตทั้งสองด้านก็รวมเป็นด้านเดียวกัน ยกตัวอย่างการที่ผมใช้วิธีคิดแบบวิชาการมาใช้กับเรื่องกาแฟด้วย โดยการอ่านบทความวิชาการที่ได้รับการยอมรับเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการผลิตกาแฟและเอาความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดให้กับเพื่อนเกษตรก และในโลกวิชาการ ผมก็สนุกกับการชงกาแฟโดยใช้ดริปเปอร์ของ Chemex ให้เพื่อนๆ ในสายนี้ที่ชอบกาแฟพิเศษมากกว่ากาแฟคั่วเข้มจากเครื่องอัตโนมัติ
Mr. Roots: มองภาพตัวเองในอีก 5 ปีข้างหน้าไว้แบบไหน
ฟูอาดี้: ก็อย่างที่บอกว่าผมทำเรื่องกาแฟ แต่ในขณะเดียวก็เป็นนักวิชาการด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยหวังว่าในอนาคตจะยังทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไปได้อยู่
แต่สำหรับ Beanspire ผมหวังว่ามันจะโตขึ้นเรื่อยๆ แต่จะต้องเป็นการโตอย่างยั่งยืน เพราะในแง่ของการผลิตและส่งออกแล้ว กำไรที่ได้คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก มันจึงเป็นเรื่องของการสเกลการผลิตที่มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยลง
ในด้านคุณภาพของกาแฟ เราถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ผมพอใจกับคุณภาพที่อยู่ประมาณ 83-86 คะแนน เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องของการขยายการผลิตและรักษาคุณภาพไว้ให้ได้ หรือพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นอีกนิด ให้อยู่ที่ 87-89 คะแนน ที่ผมอยากจะทำก็คือเริ่มส่งออกกาแฟที่อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งก็คือ 90 คะแนนขึ้นไป แต่เรื่องนี้อาจจะต้องจนกว่าเราจะเริ่มปลูกเมล็ดกาแฟพันธุ์พิเศษที่เพิ่งเริ่มต้นปลูกในเมืองไทย
Mr. Roots: ปกติแล้วคุณชอบกาแฟแบบไหน
ฟูอาดี้: ตอนนี้ผมชอบกาแฟที่ผ่านการแปรรูปแบบแห้งที่ชงเป็นแฟลตไวท์ ครั้งแรกที่ได้ลองกาแฟนี้ก็คือตอนที่ Roots ใช้กาแฟ Typica Natural จากดอยสะเก็ด ซึ่งเป็นกาแฟของอ้อยและหนุ่ยที่ผมมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพด้วยมาทำเป็นแฟลตไวท์เมื่อปีก่อน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แฟลตไวท์ก็กลายเป็นกาแฟโปรดของผม เพราะมันหวานมาก… หวานเหมือนใส่น้ำตาลเลย ทุกวันนี้ผมเลยตื่นเต้นเวลาที่ร้านเสิร์ฟกาแฟที่แปรรูปแบบแห้งเป็นเอสเปรสโซ โดยผมมักจะสั่งแบบใส่นม เพื่อดูว่ามันจะดีกว่ากาแฟ Typica Natural จากดอยสะเก็ดหรือเปล่า
Mr. Roots: ถ้าทุกวันนี้ไม่ได้ทำ Beanspire คุณคิดว่าตัวเองน่าจะทำอะไรอยู่
ฟูอาดี้: คงเป็นนักวิชาการเต็มตัวที่อยู่บนหอคอยงาช้างและไม่ได้ทำงานกับชาวบ้านโดยตรง รวมถึงคงไม่ได้เข้าใจชีวิตเขาในหลายมิติด้วย กาแฟทำให้ผมได้สัมผัสเรื่องต่างๆ โดยตรงและผมก็ชอบแบบนั้น
Mr. Roots: อยากฝากบอกอะไรไปถึงลูกค้าของเราบ้าง
ฟูอาดี้: หลายคนยังไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของกาแฟไทย ผมมีโอกาสเดินทางไปยังหลายเมืองและได้รู้จักกับคนคั่วกาแฟหลายคน ผมอยากบอกว่า ณ ตอนนี้ กาแฟที่เราผลิตมีคุณภาพดีมากแล้ว จนมันไม่ใช่เรื่องของดีหรือแย่อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคลมากกว่า โดยเฉลี่ยแล้ว กาแฟของเรามีคุณภาพสูงพอๆ กับกาแฟจากฮาวาย โคลอมเบีย หรือกัวเตมาลา สิ่งที่เราต้องทำก็คือผลิตกาแฟในระดับที่แข่งขันได้ เพื่อทำให้ชื่อของเมืองไทยเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตกาแฟคุณภาพสูง ซึ่งเราจะต้องร่วมมือกันหลายๆ ด้านเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น และต้องเริ่มจากการที่คนไทยเชื่อมั่นในกาแฟก่อนเป็นอันดับแรก