fbpx

โลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลอะไรบ้างกับกาแฟ?

แดดร้อนขึ้น ฝนหลงฤดู ลมหนาวมาช้ากว่าที่เคย ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อนทั้งหมดนี้ ทำให้พืชที่ให้ผลผลิตตามฤดูกาลอย่างกาแฟ ได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้เลย 

ไม่ได้มีแค่เกษตรกรที่ฝากชีวิตไว้กับปริมาณเชอร์รี่ในแต่ละปีเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทว่ามันยังแชร์ไปที่นักแปรรูป โรงคั่วและร้านกาแฟแบบพวกเรา รวมถึงคนดื่มกาแฟด้วย

เมื่อกาแฟไทยต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน ความผันผวนที่เกิดขึ้นในสายพานนี้มีหน้าตาแบบไหนบ้าง ฟังเกษตรกรต้นน้ำอย่างพี่นาวิน (แม่สรวย จ.เชียงราย) อาเทน (แม่แดดน้อย จ.เชียงใหม่) และคนกลางน้ำอย่างฟูอาดี้ จาก Beanspire Coffee และกรณ์ Green buyer และ Head Roaster จาก Roots เล่าสิ่งที่พวกเขากำลังพบเจอกันดีกว่า 

อากาศร้อนขึ้น ความแข็งแรงของต้นกาแฟลดลง

“โลกร้อนทำให้ต้นกาแฟตายเยอะมากเลย” พี่นาวินเริ่มต้นเล่า “ต้นที่เจอแดดจัดๆ มันอ่อนแอ ตายง่าย ทีนี้พอเราปลูกต้นใหม่เพื่อทดแทน มันก็ไม่ได้เติบได้ดีเหมือนสมัยก่อนเลย นี่เลยไม่ใช่วิธีแก้ที่ถูกเท่าไหร่”

“ต้นกาแฟมันเหมือนคน เวลาเจอแดดจัดๆ ก็จะเครียด ไม่สบายตัว สุดท้ายเราต้องกลับไปโฟกัสเรื่องการจัดการฟาร์ม วิธีปลูกกาแฟที่ดีที่สุดคือ ไม่ควรปลูกกาแฟอยู่กลางแจ้งเกินไป ให้อยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ เจอแดดรำไร ถ้าเราทำกาแฟมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เขาปลูกกันกลางแจ้ง ผมว่าการจัดการฟาร์มน่าจะเป็นสิ่งที่เราต้องกลับไปแก้ไขมัน” อาเทนเล่า

อาเทน (แม่แดดน้อย จ.เชียงใหม่)

ในฟาร์มของพี่นาวิน ต้นกาแฟที่มีต้นไม้ใหญ่คอยบังแดดค่อนข้างที่จะแข็งแรงกว่าเพื่อน เจ้าตัวจึงลงมือปลูกไม้ยืนต้นแทรกกับต้นกาแฟ แต่วิธีการนี้อาจต้องใช้เวลา 2-3 ปี เพื่อรอให้ต้นไม้เหล่านั้นเติบโต ขยายกิ่งก้านให้ร่มเงากับต้นกาแฟ

“ตอนนี้เราต้องจัดการฟาร์มยกใหญ่เลย เรื่องบำรุงดินก็สำคัญ ถ้าดินไม่ดี ภูมิของมันก็ไม่ดีด้วย ตอนเจอเชื้อโรคมันจะไม่สบายง่ายเหมือนคนเลย เราต้องทำให้ต้นสมบูรณ์เพื่อให้มันดูดอาหารได้ดีด้วย จากเดิมที่ให้ปุ๋ยสองรอบในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม ก็ให้เพิ่มในเดือนเมษายน ช่วงนั้นต้นกาแฟจะโทรมมาก เพราะถูกเก็บผลไปหมดแล้ว เหมือนแม่ที่เพิ่งคลอดลูก เราต้องมีการฟื้นฟูในช่วงนั้น” 

นอกจากนี้ยังมีงานใหญ่อย่างการปรับหน้าดิน จากปกติที่ต้นกาแฟจะอยู่บนเนินเขาเรียบๆ ให้หน้าดินมีลักษณะเป็นขั้นบันได ช่วยกันไม่ให้ธาตุอาหารไหลลงไปกองด้านล่างในช่วงที่ฝนตกเยอะๆ 

ฝนตกผิดฤดู ปริมาณและคุณภาพกาแฟก็ตกลงด้วย

“ฝนที่ตกในฤดูหนาวสร้างความเสียหายอยู่สองส่วน อย่างแรกคือ ลูกเชอร์รี่ที่เริ่มสุกบนต้น ตอนเจอฝนที่ตกผิดฤดู มันจะแตกแล้วก็ร่วง เกษตรกรก็ได้ผลผลิตที่น้อยลง รายได้ก็ลดลงด้วย” พี่นาวินเล่า 

นาวิน (แม่สรวย จ.เชียงราย)

“ปกติแล้วกาแฟจะให้ผลผลิตดกแบบปีเว้นปี ปีที่แล้วควรจะเป็นปีที่ดก แต่ในช่วงเก็บเกี่ยวก็มีฝนตกประมาณ 4-5 ครั้ง พอมันตกระหว่างเก็บเกี่ยว ทำให้ดอกกาแฟฤดูกาลใหม่มันเกิดเร็วขึ้น แล้วดอกก้ร่วงอีกตอนที่ฝนตกลงมาซ้ำ ทำให้กาแฟไม่ค่อยติดดอก ผลผลิตปีนี้ที่คาดว่าจะน้อยอยู่แล้ว ก็จะยิ่งน้อยลงไปใหญ่ บางฟาร์ม 50-60 เปอร์เซ็นต์เลยนะที่หายไป” ฟูอาดี้อธิบาย

“เชอร์รี่ในฟาร์มของผมตอนนี้น่าจะหายไป 40 เปอร์เซ็นต์ กล้าพูดเลยว่าไม่เคยเจอมาก่อน รุ่นพ่อแม่เขาก็บอกยังไม่เคยเจอขนาดนี้ บางต้นเนี่ย ไม่มีกาแฟติดผลเลย มันหนักมากครับ อยากเปิดกล้องให้ดูเลยครับเนี่ย” พี่นาวินหัวเราะ

ผลกระทบจากฝนส่วนที่สองเป็นเรื่องการแปรรูป เมื่ออากาศชื้นมากขึ้น ทำให้การตากกาแฟให้แห้งต้องใช้เวลานานขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดรา รวมถึงกลิ่นอับ

“เราก็ต้องมารับมือมันให้ได้ ต้องมีการเตรียมตัวที่ดี ฝนตกปุ๊บ ต้องมูฟของยังไง เหมือนกับว่าเราต้องย้อนกลับไปดูวิธีการทำงานของเรา แต่ถ้าเป็นเรื่องภัยแล้ง แม่แดดน้อยไม่ได้กระทบเยอะมากนะครับ เพราะเป็นสภาพปกติที่เราเจอ ยิ่งร้อนขึ้น เราแปรรูปกาแฟ Natural ได้ดีขึ้นด้วย เพราะระยะการตากจะน้อยลง เหมือนมันกลับกันน่ะ” อาเทนเล่า

แมลงและโรค ของแถมจากอากาศแปรปรวน

“มอดเจาะกาแฟเป็นอีกเรื่องที่มากับโลกร้อน ผมรู้สึกว่ามอดมันเยอะขึ้น แต่ผมไม่แน่ใจนะว่าอากาศร้อนทำให้มอดขยายพันธุ์ได้เร็วขึ้นหรือเปล่า แต่สังเกตจากที่สูงๆ อากาศเย็น จะไม่ค่อยมีพวกนี้เท่าไหร่ แต่ว่าหลายที่ที่มีอากาศร้อนขึ้น เจอพวกนี้เยอะขึ้น พอมอดเยอะก็เกี่ยวเนื่องไปที่การแปรรูปด้วย”

สำหรับใครที่สงสัยเกี่ยวกับมอดกาแฟที่พี่นาวินเมนชั่นถึง อ่านเรื่องราวของมอดต่อได้ที่ https://rootsbkk.com/journal/coffee-berry-borer-a-tiny-insect-causing-harm-to-coffee-plantations-worldwide/ 

นอกจากนี้ ลมหนาวยังนำเชื้อโรค ‘แอนแทรคโนส’ จากต้นพริกลามมาสร้างความเดือดร้อนให้กับต้นกาแฟในฟาร์มของพี่นาวินด้วย “ตรงไหนที่มีช่องลมจะเจอครับ ผมเคยเจอแล้วต้องรื้อทั้งสวน มันทำให้ใบแห้งหมดเลย เหลือแต่กิ่ง ยิ่งถ้าต้นเราอ่อนแอมากๆ มันก็ยิ่งตายง่าย ซึ่งตอนนี้ยังไม่เจอวิธีแก้เลยครับ”

คนปลายน้ำต้องจ่ายให้กับกาแฟไทยแพงขึ้น!

“เพราะปีนี้ปริมาณผลผลิตควรจะน้อยอยู่แล้ว อากาศแปรปรวนยิ่งทำให้ยิ่งน้อยไปใหญ่ ราคากาแฟก็เพิ่มขึ้นโดยปริยาย ตาม demand และ supply ของตลาด สมมติ เมื่อก่อนราคาเชอร์รี่ 100 กิโลกรัม ขายที่ 20 บาท เงินที่เกษตกรได้คือ 2,000 บาท แต่ปีนี้ผลผลิตเหลือ 50 กิโลกรัม เท่ากับว่าต้องขายเชอร์รี่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท เกษตรกรถึงจะมีรายได้เท่าเดิม

“ซึ่งในที่สุดแล้ว มันส่งผลถึงคนกินแน่ๆ ปีหน้าเราคิดว่าเมล็ดกาแฟไทย ที่ขายหน้าร้านอาจจะต้องบวกเพิ่มแก้วละ 5-10 บาท คนที่หนักที่สุดคือโรงคั่วกาแฟที่ไม่ได้มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง เขาอาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้กาแฟจากแหล่งอื่นที่ราคาถูกกว่ากาแฟไทย” ฟูอาดี้เล่า

ฟูอาดี้ จาก Beanspire Coffee

“การเอากาแฟมาคั่ว โรงคั่วก็ต้องได้กำไร คนที่ซื้อกาแฟจากโรงคั่วไปชงขายเป็นแก้ว เขาก็ต้องได้กำไรอีกทอดหนึ่งด้วย คนขายกาแฟ wholesale เลยไม่อยากซื้อกาแฟแพง ถ้าโรงคั่วบวกกำไรเข้าไปแล้วราคาขายขึ้นไปสูงมากๆ คนที่ซื้อกาแฟจากเขาก็จะไม่อยากซื้อ” กรณ์แชร์มุมมองของคนคั่วกาแฟ

กรณ์ Green buyer และ Head Roaster จาก Roots

ในมุมที่กาแฟไทยราคาสูงขึ้นจากอากาศแปรปรวน มุมนี้มีผลกระทบเรื่องคุณภาพกาแฟซ่อนอยู่ด้วย

“การที่กาแฟแพงขึ้น การันตีไม่ได้ว่ากาแฟจะดีกว่าเดิม เพราะสิ่งสำคัญของเทรดเดอร์หรือคนแปรรูป คือการมีกาแฟอยู่ในมือ เราจะบังคับให้ต้นทางเก็บดี คัดเฉพาะเม็ดที่สุกเต็มที่ตามที่เราอยากได้ก็ไม่ได้ เขาไปขายคนอื่นได้ เพราะมีคนที่พร้อมซื้อเชอร์รี่แบบนี้อยู่” สิ่งที่ฟูอาดี้พูดถึง คือการแข่งขันของพ่อค้าคนกลาง ยิ่งเชอร์รี่กาแฟมีน้อย การใส่ใจเรื่องคุณภาพอาจกลายเป็นสิ่งที่บางคนมองข้ามไปนั่นเอง 

“พอเก็บเชอร์รี่ไม่ดี เราจะได้เม็ดที่ไม่สมบูรณ์มาด้วย กะลากาแฟที่ได้ตอนสุดท้ายอาจจะมีคุณภาพที่ไม่สมบูรณ์” เจ้าตัวย้ำถึงสิ่งที่จะกระทบกับคนปลายน้ำ

กลับมาที่เรื่องวิธีเอาตัวรอดจากอากาศแปรปรวน ฟูอาดี้บอกเราว่า เกษตกรกาแฟในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความหลากหลายของพื้นที่มากกว่าประเทศไทย เริ่มมีการย้ายพื้นที่ทำกิน โดยนำกาแฟไปปลูกในพื้นที่ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ต้นกาแฟได้เจอกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเติบโตและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

“เหมือนในประเทศที่ปลูกกาแฟมายาวนาน เขามีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ได้ มีงานรีเสิร์ชกาแฟมากมายรองรับ ซึ่งพอกลับมามองบ้านเรา ต้องยอมรับว่ามีรีเสิร์ชอยู่น้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกาแฟไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลัก ในบ้านเราคงต้องรอดูกันยาวๆ” กรณ์เล่าเสริม

“ตอนนี้เราอาจจะยืนอยู่ในช่วงขาลงของกาแฟไทย ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีกาแฟไทยอยู่ ก็อยากให้คนดื่มสนับสนุนกาแฟไทยกันเยอะๆ” ฟูอาดี้ปิดท้าย

SHARE

Thank you for subscribe

Thank you! We'll be in touch.

OKAY